เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง มีงานเทศกาลประชุมดนตรีระดับนานาชาติงานแรกและงานเดียวในประเทศไทยอย่าง Bangkok Music City จับจองพื้นที่ทั้งย่าน โดยมีไฮไลท์หลักเป็นฟรีคอนเสิร์ตจากศิลปินหลายร้อยชีวิตบน 5 สเตจ ไล่มาตั้งแต่พื้นที่หน้าอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก, ท่าเรือบางรักริเวอร์วิว, ดาดฟ้าอาคาร River City และอาคาร The Corner House เจริญกรุง แม้จะมีไฮไลท์เป็นคอนเสิร์ตหลากหลายสเตจ แต่งานนี้ไม่ใช่มิวสิคเฟสติวัลธรรมดา หากเป็นมิวสิคโชว์เคสเฟสติวัลที่ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางเชื่อมระหว่างศิลปินอินดี้และนักธุรกิจในวงการดนตรีให้รู้จักกัน โดยในการจัดงานครั้งนี้นอกเหนือไปจากการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ภาคเอกชนแล้ว หน่วยงานภาครัฐทั้งไทยและเทศก็ลงมาเล่นสนามนี้ทั้งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB), กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, Korea Creative Content Agency (KOCCA) และ Taiwan Creative Content Agency (TAICCA) ความสำคัญของงานนี้ต่อเศรษฐกิจไทยคืออะไร และงานนี้คืออะไรกันแน่ เอสไควร์ ประเทศไทยชวนคุณคุยกับทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังงานสเกลใหญ่ครั้งนี้แบบหมดเปลือก เพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นสร้างมูลค่าให้กับเมืองและประเทศของเราได้อย่างไรบ้าง











The Beginning and the Meaning
“Bangkok Music City เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2019 ครับ” พาย – ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี Co-founder & Director of Educational, Governmental and Overseas Partnership บริษัท ฟังใจ จำกัด เล่า “ผมกับต้อม (พงศ์สิริ เหตระกูล – ผู้ร่วมก่อตั้ง Bangkok Music City) มีแนวคิดเดียวกัน เลยเอาไปนำเสนอกับ TCEB ผมได้ไอเดียการจัดโชว์เคสนี้มาจากงาน South by Southwest (SXSW) ที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมช่วงระหว่างที่อินเทิร์นอยู่ที่บริษัทสตาร์ทอัพดนตรีที่บอสตันเมื่อปี 2012และผมเห็นว่าสิ่งนี้ควรจะมีในประเทศไทย เพราะที่อเมริกาศิลปินอินดี้ยังพอสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ที่ประเทศไทยนั้นยากมากนะ บวกกับผมเองก็เคยเล่นดนตรี เคยเป็นศิลปินอินดี้มาก่อน และเพลงของผมเองก็ไปดังใน Fat Radio ระดับหนึ่งนะ แต่ผมก็ไม่เห็นมีเงินเพียงพอเลย เพื่อนๆ ศิลปินอินดี้ที่ดังกว่าผมก็ยังต้องมีงานประจำ พอได้ไปเห็นโมเด็ล SXSW ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ศิลปินได้พบกับขั้นถัดไปของอาชีพเขา นั่นคือการได้พูดคุยกับนักธุรกิจด้านดนตรีโดยตรงอย่างเจ้าของค่ายเพลง เอเจนซี่จัดหาวงดนตรีสำหรับงานเฟสติวัล หรือเอเจนซี่ด้าน artist development ต่างๆ แม้ว่าโลกปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่เอื้อให้ศิลปินสามารถทำงานได้ด้วยตนเองอย่างมีอิสระแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าการพึ่งพาและทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมดนตรีก็ยังเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน
“งาน Music Showcase Festival มันก็คืองานเอ็กซ์โป หรืองานนิทรรศการแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมอื่นนั่นล่ะครับ” พายอธิบายต่อ “ซึ่งปกติแล้วในงานเอ็กซ์โป เจ้าของกิจการจะมาเช่าบูธเพื่อโชว์เคสสินค้าตัวเอง แจกนามบัตรและตัวอย่างสินค้าของตัวเองใช่ไหมฮะ แต่พอสินค้าของเราเป็นดนตรีเนี่ย จะให้ศิลปินมาเช่าบูธมันก็ไม่ตรงกับ ‘สินค้า’ ของพวกเขา ซึ่งก็คือตัวเพลงและการแสดงสดบนเวที เพราะฉะนั้นงานมิวสิคโชว์เคสก็ต้องเปลี่ยนบูธเป็นเวที และนักธุรกิจด้านดนตรีก็ต้องมาช็อปปิ้งวงเอาตามเวทีต่างๆ อธิบายง่ายๆ แบบนี้นี่ล่ะครับ ในฝั่งยุโรปและอเมริกามันจะมีกลุ่มคนที่อยากจะค้นพบศิลปินใหม่ๆ มากกว่าฝั่งประเทศเราครับ คนไทยมักจะอยากดูศิลปินที่ดังอยู่แล้วมากกว่า พวกเราเลยหวังอยากจะให้คนไทยเปิดใจเพื่อให้เห็นว่าศิลปินดีๆ เก่งๆ นั้นไม่จำเป็นต้องดังก็ได้ และในปัจจุบัน ตลาดเฉพาะ (niche market) มันเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ มีศิลปินไทยหลายๆ คนที่สามารถไปเล่นต่างประเทศได้โดยไม่มีเพลงภาษาอังกฤษเลยด้วยซ้ำ อย่าง Yellow Fang ที่มีน้องสาวผมเป็นมือเบสก็ได้ไปเล่นหลายประเทศ ผมมองว่าการมาถึงของอินเทอร์เน็ตทำให้มนุษย์มีวัฒนธรรมทางดนตรีร่วมกันได้ง่ายขึ้น ช่วงที่เพลง ‘ประเทศกูมี’ กำลังดังมากๆ ในบ้านเรา เพื่อนบ้านอย่างประเทศอินโดนีเซียก็กำลังอินกับเพลง ‘ครางชื่ออ้ายแน’ ของประเทศไทยอยู่เลยครับ”












“อยากเสริมที่พายพูดนิดนึงครับ” ไข่ – รักษิต รักการดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (COO) บริษัท ไลฟ์ เนชั่น เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด กล่าว “ประสบการณ์ด้านดนตรีของไทยที่บอกว่าเราชอบฟังเพลงเมนสตรีมกัน วงเคป็อป หรือวงที่ดังๆ มาเล่น เราก็อยากจะไปดูคอนเสิร์ตของพวกเขากัน ในขณะเดียวกัน ประเทศอย่างฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวันเองก็จะมีวัฒนธรรมแบบ indie-based มากกว่าบ้านเราอยู่แล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าประเทศไทยมันไม่มีสินค้าให้เรามาสำรวจหรือผจญภัยได้ เพราะเราป้อนแต่ดนตรีและคอนเสิร์ตเมนสตรีมเป็นหลัก ผู้ชมก็เลยไม่มีโอกาสได้ดูคอนเสิร์ตอินดี้ เพราะฉะนั้น งาน BMC นี่ก็เลยเป็นสิ่งที่เป็นกึ่งๆ ระหว่างมิวสิคเฟสติวัล และมิวสิคโชว์เคส เป็นการแสดงสินค้าชวนให้คนมาช็อปฟังเพลงจากศิลปินที่คุณไม่เคยฟัง เรียกว่าเป็นการเปิดประตูหรือหน้าต่างบานใหม่ให้กับวงการดนตรีเลยก็ว่าได้ครับ”
“เราคงไม่บอกว่าเราเป็นผู้นำเสนอดนตรีอินดี้ให้คนไทยได้รู้จักหรอกครับ เพราะก็มีคนอื่นๆ ทำอยู่เช่นกัน” พายรีบแก้ “แต่ข้อแตกต่างของเราที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ เราเอาบายเออร์จากต่างประเทศมาดูวงไทย และมาดูวงต่างประเทศที่อยากเล่นในประเทศไทยครับ เราตั้งใจจะเป็นตลาดซื้อขายดนตรี และ community space ให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสมาสร้างเครือข่าย มาค้นพบและรู้จักกัน เพื่อต่อยอดทางธุรกิจครับ”
“เทียบง่ายๆ ก็งานมอเตอร์โชว์ที่เอารถมาจอดโชว์กันนั่นล่ะครับ ถึงจริงๆ แล้วรถจะต้องวิ่ง แต่มันก็มาจอดโชว์ได้อยู่ดี” ดอม โชติวนิช Festival Director บริษัท ไลฟ์ เนชั่น เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด อธิบายเพิ่มเติม “แต่วงดนตรีมันยืนนิ่งๆ ไม่ได้ เพราะธรรมชาติของธุรกิจดนตรีมันต้องจัดแสดงให้คนมาดู งานมิวสิคโชว์เคสเลยออกมาในรูปแบบเฟสติวัลนี่ล่ะครับ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันก็คือ trade show ประเภทหนึ่ง ซึ่งงานมิวสิคโชว์เคสแบบนี้มันเป็นทั้ง B2B (business to business) และเป็นที่สำรวจของคนที่อยากจะหาอะไรใหม่ๆ มาเสพ และเราได้พาร์ทเนอร์กับ The Great Escape Festival ซึ่งเป็นเฟสติวัลที่โชว์เคสวงดนตรีใหม่ๆ ที่จัดในประเทศอังกฤษด้วยครับ เขาก็เปิดพื้นที่ให้กับศิลปินตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงค่ายได้ง่ายครับ ศิลปินอย่าง Adele และ Ed Sheeran ก็เกิดที่นี่ครับ”












Music Shopping According to Your Taste
“สำหรับผมนะ กลุ่มคนฟังเพลงตลาดเฉพาะเนี่ยจะหาสิ่งที่ตัวเองชอบจากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก และอาจจะจำกัดตัวเองอยู่ที่การฟังเพลงแบบนั้นแบบเดียว แต่ถ้าเกิดคุณลุกจากหน้าจอ มางาน BMC ที่ตลาดน้อยเนี่ย คุณจะได้เจอสิ่งที่คุณชอบแน่ๆ และอาจจะได้เจอสิ่งใหม่ๆ ที่คุณก็ไม่รู้หรอกว่าคุณจะชอบไหม แต่คุณอาจจะชอบมันไปเลยก็ได้ เหมือนกับเราเสิร์ฟบุฟเฟต์ให้คุณชิม คุณรู้ว่าคุณชอบกินจานนี้แล้ว แต่คุณจะไม่ลองชิมจานนี้ด้วยเหรอ การไปงานมิวสิคเฟสติวัลใหญ่ๆ อย่าง Coachella หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ตั้งใจไปดูวงนี้ แต่กลับไปเจอวงใหม่ๆ ที่เจ๋งกว่าเสียอีก นั่นคือประสบการณ์ที่เราอยากให้เด็กไทยได้เจอบ้างน่ะครับ” ไข่เล่าต่อในขณะที่พายให้ข้อมูลเราเพิ่มเติมว่า “สำหรับในโซนอาเซียนนี้ งานมิวสิคโชว์เคสที่เต็มรูปแบบจริงๆ น่าจะมีอยู่สามงาน งานแรกคือ Music Matters ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่นั่นเขาก็จะเน้นศิลปินที่มาจากสามค่ายใหญ่ของโลก งานที่สองก็ BMC ของเรา ส่วนอีกงานชื่อ AXEAN Festival ที่ผมเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งเป็นงานที่ย้ายที่จัดไปทุกปีครับ”
อีกสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะต้องใช้เวลาในการ ‘เอดูเขต’ ทั้งศิลปินและแฟนๆ ชาวไทยไปอีกสักระยะก็คือความแตกต่างที่แท้จริงระหว่างมิวสิคเฟสติวัลที่ให้คนมาฟังดนตรีชิลด์ๆ กับงานมิวสิคโชว์เคสเฟสติวัลที่หมายถึงงาน trade fair แห่งโลกดนตรี “งานมิวสิคโชว์เคสเฟสติวัลแบบนี้ไม่ได้มีการจำหน่ายบัตรนะครับ” ไข่อธิบายความแตกต่าง “เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นงานที่จำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สปอนเซอร์ หรือใครๆ ก็ตาม อย่างที่เราได้จับมือเป็น sister festival กับ The Great Escape Festival นี่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะเปิดโอกาสให้วงดนตรีจาก BMC ได้ไปเล่นที่งานนั้น พวกเราก็ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะโตไปถึงจุดที่ขายบัตรได้เพราะคนอยากดูมากขึ้นอยู่แล้วครับ แต่มันต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นในตอนนี้สิ่งที่พวกเราทำได้คือพยายามวางหมุดหมายให้เมืองไทยเป็นจุดที่ค่ายทั่วทวีปเอเชียอยากส่งศิลปินของตัวเองมาเล่นที่ BMC และพวกเราจะได้เป็นเฟสติวัลหลักที่ส่งศิลปินจากทวีปเราออกไปที่อื่นด้วยครับ
“BMC มันคืองานเทรดชนิดหนึ่งแหละครับ เพียงแต่ว่ามันเป็นเทรดที่มีผู้ชมมาร่วมอยู่ในสมการด้วย ดังนั้นงานมิวสิคโชว์เคสเฟสติวัลก็จะทำให้กรุงเทพฯ วีคนั้นมีสีสันขึ้นมา เพราะมันจะมีทั้งแฟนๆ ชาวไทย คนต่างชาติที่บินมาดู หรือมาทำงานหาวงใหม่ๆ ไปใส่ในเฟสติวัลของเขา ศิลปินต่างชาติที่บินมาเล่น และแฟนๆ วงเหล่านั้นที่บินตามมาเชียร์ มันคือเทศกาลที่ผมว่าสนุกมาก และถ้าเป็นไปได้ ผมอยากจะทำเป็น Bangkok Music Week ทั่วเมืองให้ได้ในสักวันหนึ่งครับ” ไข่วาดฝันไว้เช่นนั้น
“วันนี้เราเพิ่งเริ่ม ก็เริ่มในจุดที่เราจัดการได้ รับมือไหวก่อนครับ” ดอมเสริม “ปีนี้เรามีทั้งหมด 5 เวที 60 ศิลปิน ก็ถือว่าเอาเรื่องอยู่นะครับ เราใช้แอพฯ แบบเดียวกับที่ใช้ในงาน The Great Escape (แอพฯ ชื่อว่า ‘Bangkok Music City’ สามารถดาวน์โหลดได้ในแอพสโตร์ของทุกระบบปฏิบัติการ) คือมีไทม์ไลน์รันไว้ในแอพฯ เรากดหัวใจไว้ว่าอยากจะดูวงไหน แอพฯ ก็จะเตือนแบบเผื่อเวลาเดินไว้ให้แล้ว ซึ่งมันช่วยได้มากสำหรับงานที่เป็น pocket venue ที่ไม่ได้อยู่ในฮอลล์เดียวกันหมดแบบนี้ครับ สาเหตุที่เราเลือกย่านตลาดน้อยเป็นสถานที่จัดงานนี้ก็เพราะว่าย่านนี้เป็น creative district ทุกอย่างมันลงตัวไปหมดจริงๆ ครับ”
นอกจากศิลปินขึ้นโชว์บนเวทีแล้ว ภายในงาน BMC ก็จะมี business matching และมี pitching stage สำหรับเอเจนซี่เมืองนอกที่อยากได้วงต่างๆ ไปเล่นที่เฟสติวัลของตัวเอง โดยมีการจัด pitching ได้ทุกวัน และได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญามาเวิร์คช็อปเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้กับศิลปินไทยเพิ่มเติม และ TCDC ก็ให้ยืมสถานที่ใช้งานอีกด้วย






The Economic Impact
“งาน BMC ได้รับการสนับสนุนจาก TCEB มาตั้งแต่ปีแรก” พายเล่า “สิ่งที่เราต้องทำรายงานส่งทุกปีคือเรื่องของ socio-economic impact หรือผลกระทบในเรื่องเศรษฐศาสตร์สังคมที่งานนี้มีต่อเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ และก็ได้พบว่าเงินที่ลงทุนในการจัดงานมิวสิคโชว์เคสนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณภาษีที่รัฐสามารถเก็บได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตัวเลขที่คำนวณได้ก็คือ งานนี้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 270 ล้านบาท และรัฐบาลน่าจะเก็บภาษีได้จากกิจกรรมนี้ประมาณ 29 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินที่ใช้จัดงานนี้นั้นน้อยกว่าจำนวนรายรับตรงนี้มากๆ ถ้ารัฐบาลเข้าใจในจุดนี้ว่างานแบบนี้มันทำให้ภาครัฐมีรายรับ คนไทยได้รู้จักกับศิลปินต่างๆ มากขึ้น และได้ส่งเสริมให้ศิลปินไทยได้มีโอกาสไปในเวทีโลกได้ ก็สามารถเขียนนโยบายใดๆ ที่รองรับการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ในลักษณะนี้ได้
“เราพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์กันเยอะ แต่เราอาจจะยังไม่เข้าใจว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริงคือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นความรู้สึกที่ดีระหว่างประชาชนประเทศหนึ่งต่ออีกประเทศหนึ่ง เหมือนคนไทยไปเที่ยวเกาหลี กินอาหารเกาหลี เพราะชอบดาราเกาหลี พวกเราเองก็พยายามให้คนต่างชาติมองเมืองไทยด้วยความรู้สึกรักชอบผ่านดนตรีเช่นกัน ดนตรีเป็นอีกปัจจัยที่สามารถผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดได้ นโยบายหนึ่งของอาจารย์ชัชชาติ (สิทธิพันธุ์ – ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ก็คือความพยายามผลักดันเศรษฐกิจกลางคืนให้มีความสำคัญมากขึ้น ไม่ให้มองว่าเศรษฐกิจกลางคืนเป็นเรื่องไม่ดี เป็นที่อโคจร ถ้าเราสร้างภาพลักษณ์ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองดนตรี ซึ่งดนตรีมักจะเกี่ยวข้องกับเวลากลางคืนอยู่แล้ว คนก็จะจำภาพลักษณ์ว่าดนตรีที่ดีอยู่ที่ประเทศไทย อยู่ในกรุงเทพฯ ครับ” พายสรุปเรื่องยากๆ อย่างตัวเลขทางเศรษฐกิจให้คนอย่างเราเข้าใจได้ง่ายมากๆ ขอบคุณนะ
“อีกอย่างที่อยากจะเสริมก็คือ” ไข่พูดต่อทันที “เราพูดกันว่าอยากจะให้ทีป็อปไปได้ไกลเท่ากับเคป็อป เราอยากจะเป็นเหมือนเขา แต่เราไม่มียานพาหนะที่จะส่งทีป็อปไปได้แบบนั้น ทุกวันนี้ศิลปินทีป็อปกระเสือกกระสนไปกันเองทั้งนั้น ไม่ได้รับการสนับสนุนจากใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ผมอยากให้มองว่า BMC คือหนึ่งในยานพาหนะที่จะเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้มีโอกาสเจอโลกภายนอก อยากให้งานนี้เป็นยานพาหนะที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว อยากให้ปีหน้าศิลปินแย่งกันลงทะเบียนว่าอยากลงเล่นเวทีต่างๆ อยากให้อุตสาหกรรมดนตรีไทยมองเห็นคุณค่างานตรงนี้ด้วย อยากให้ศิลปินไทยลงทุนตัวเองกับตรงนี้ อยากให้ใช้เวลาบนเวทีอย่างคุ้มค่าที่สุด ให้สมกับแรงที่พวกเราลงไปเพื่อให้เกิดงานนี้ขึ้นมาครับ”
“นักธุรกิจเหล่านี้เขามาดูวงดนตรี 60 วง ดูได้แค่เพลงสองเพลงก็ต้องไปวงอื่นต่อแล้ว” ดอมอธิบายไดนามิคที่จะเกิดขึ้นในงาน “พวกเขามีวินัยในการเดิน ทำการบ้านมาดี ดูให้เยอะที่สุด เพราะฉะนั้น วงต้องพร้อมมาเต็มที่ ทุกเพลงต้องน็อค ไม่ต้องมาบิลด์อะไรยาวๆ นี่ไม่ใช่ฟูลโชว์ แต่เป็นโชว์เคสที่ไม่ว่าเขาเดินมาตอนไหนต้องฮุคให้ได้ทั้งหมด และในงานนี้ เรารวมผู้แทนดนตรีจากเมืองนอกมาได้ราวๆ70 กว่าคน จากเมืองไทยอีกราวๆ 30 คน ก็ร้อยกว่าคน ถือเป็นโอกาสที่ดีมากนะครับ”
“ก็ต้องฝากให้สื่อช่วยสื่อสารถึงทุกคน” ไข่ทิ้งท้าย “ทั้งวงดนตรีและแฟนเพลงว่าถ้าอยากจะลงแข่งขันในเวทีระดับโลกก็ต้องลงให้สุด คู่แข่งคุณไม่ใช่เคป็อปแล้ว เขาไปไกลเกินกว่าที่คุณจะตามทันแล้ว ที่น่ากลัวคือคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านเรามากกว่า ศิลปินเหล่านี้พร้อมทำเพลงภาษาอังกฤษ พร้อมลุยกันสุดๆ เลยครับ”
The Artists’ Voices


“จากการเดินทางไปแสดงที่หลายประเทศ ผมเห็นว่าวงการดนตรีของประเทศไทยเริ่มจะใกล้เคียงต่างประเทศมากขึ้นแล้ว ศิลปินไทยบางคนทำเพลงสากลไปเลย อาจจะเพราะว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ เป็นประชากรโลกไปด้วยแล้วมั้งครับ และสุดท้ายแล้ว งานของศิลปินอย่างพวกเราคือการแสดงดนตรีสด ที่เป็นสิ่งที่เอไอมาแทนไม่ได้ เพราะมันมีชีวิต มีจิตวิญญาณ ต้องดูด้วยตาเนื้อเท่านั้น ดีใจที่ปีนี้ BMC เกิดขึ้นแล้ว อยากให้ปีต่อไปมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆสำหรับวงการดนตรีไทยครับ อยากให้จัดขึ้นทุกปี และเป็นงานที่คนตั้งตารอคอย อยากจะมาดูในทุกๆ ปี สถานที่จัดก็เท่มาก ไปรษณีย์กลาง มันเป็นงานกลางเมืองที่เท่มากจริงๆ ครับ”


“พวกเราได้มาเล่นที่ BMC ตั้งแต่ปีแรกที่เราเป็นศิลปินสังกัดค่าย GMM ครับ เป็นมิวสิคโชว์เคสแรกที่เราได้เล่น และเป็นปีแรกที่ BMC จัดด้วยครับ พอได้กลับมาเล่นอีกครั้ง และได้เป็นเฮดไลเนอร์ด้วยนี่รู้สึกว้าวมากๆ เลยนะครับ ผมว่างานมิวสิคโชว์เคสแบบนี้สำคัญมากๆ สำหรับศิลปินเลยนะครับ เพราะมันเป็นโอกาสที่ศิลปินตัวเล็กๆ จะได้รับการมองเห็นจากคนใหญ่คนโตในวงการดนตรีที่มาจากที่อื่น สำหรับศิลปินบางคนนี่ถือเป็นที่แจ้งเกิดเลย นี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับวงการดนตรีมากๆ อยากจะให้มีมิวสิคโชว์เคสแบบนี้เยอะๆ มีบ่อยๆ และมีใหญ่ๆ ไปเลยครับ อยากให้รัฐบาลช่วยให้มันอัพสเกลขึ้นไปได้อีก โดยไม่เสียเสน่ห์ของมันไป และเราต้องการเวนิวคอนเสิร์ตมากขึ้นกว่านี้ครับ อยากให้รัฐบาลรับรู้ถึงการมีอยู่ของศิลปินอย่างพวกเราว่าพวกเราตั้งใจทำงาน อยากปล่อยผลงานออกมาให้ทุกคนฟัง และมีพื้นที่ในการแสดงผลงานเหล่านั้นมากขึ้นครับ”


“หลายๆ ปีที่ผ่านมา เน็ตเวิร์กในวงการดนตรีในประเทศไทยแข็งแรงขึ้นมาก คนส่วนใหญ่รู้จักกันผ่านเพลย์ลิสต์ในแอพฯ สตรีมมิ่ง แต่งานมิวสิคโชว์เคสแบบนี้ทำให้เรามั่นใจว่าเราไม่ได้รู้จักกันผ่านเสียงหรือเอ็มวีเท่านั้น เป็นงานที่ทำให้ศิลปินได้โชว์ความเป็นตัวตนอย่างเต็มที่ และไม่ใช่งานที่เอาวงแมสที่สุดมาแสดงเพื่อเรียกคน จึงเป็นงานที่เปิดโอกาสให้กับทุกวงได้มีพื้นที่ในวงการมากขึ้น อยากให้จัดต่อไปเรื่อยๆ และอยากให้รัฐช่วยสนับสนุนวงการดนตรีมากขึ้น ทั้งในแง่ของการส่งศิลปินไทยออกไปต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐก็ทำอยู่แล้ว แต่อยากให้โฟกัสเรื่องการอิมพอร์ตศิลปินต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับวงการดนตรี และช่วยขยายฐานไปยังจังหวัดใหญ่ๆ เพื่อเพิ่มฐานแฟนเพลงให้ ก็น่าจะดีมากเลย”


“ดีใจที่ BMC เปิดเวทีให้คนได้เห็นเรามากขึ้น และเปิดโอกาสที่ดีให้กับศิลปินใหม่ๆ เป็นโชว์เคสที่มีทั้งโปรโมเตอร์ต่างประเทศและในประเทศด้วยค่ะ ดีใจมากจริงๆ ที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในโชว์เคสครั้งนี้ และสำหรับเรา เรามองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกเหนือไปจากเรื่องเงินทุนที่ควรเอามาลงในวงการดนตรีแล้ว ควรจะเป็นการสนับสนุนเรื่องทั่วๆ ไปมากกว่า อย่างการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบขนส่ง หรือระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ดีก่อน ทุกคนจะได้มีเวลาและเงินทุนมาสนับสนุนผลงานศิลปะที่พวกเขาชื่นชอบค่ะ”


“ผมเคยมาเล่นคอนเสิร์ตเดี่ยวที่ประเทศไทยไปเมื่อปีที่แล้วครับ แต่นี่เป็นการขึ้นมิวสิคโชว์เคสเฟสติวัลครั้งแรกของผมเลย ผมดีใจมากๆ ที่ได้มาที่นี่ และได้เจอแฟนๆ ของผมที่นี่ครับ แฟนๆ ชาวไทยนี่ชิลด์ และสนุกไปกับคอนเสิร์ตมากๆ เลยครับ ผมก็เลยสนุกไปด้วยเวลาขึ้นเล่น สำหรับผม BMC เป็นโอกาสอันดีสำหรับศิลปินจากหลากหลายประเทศให้มาแสดงสิ่งที่พวกเราต้องการบอกกับโลก ศิลปินหลายๆ คนไม่ลังเลเลยที่จะปลดปล่อยตัวเองออกมาเต็มที่ผ่านดนตรีของพวกเขา นี่เป็นโอกาสอันดีสำหรับทุกคน รวมทั้งผมด้วยครับ และผมก็ตั้งใจจะแสดงเพลงใหม่ของผมบนเวทีแบบนี้ด้วยครับ”


“นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้มาแสดงงานมิวสิคโชว์เคสเฟสติวัลแบบนี้ที่ประเทศไทยค่ะ ฉันรู้สึกแปลกๆ ค่ะ แต่แปลกในทางที่ดีนะคะ เพราะฉันได้ทำในสิ่งที่ฉันชอบอย่างการร้องเพลงไปกับคนดูที่พลังงานล้นเหลือมากๆ ในเมืองที่สวยงามแห่งนี้ ฉันรักมันมากค่ะ และสำหรับฉัน BMC เป็นมิวสิคโชว์เคสที่สำคัญค่ะ เพราะมันสามารถรวมเอาดนตรีหลากหลายแนวมากๆ มาอยู่ในเฟสติวัลเดียวกัน และยังมีทั้งศิลปินหน้าใหม่ ศิลปินที่ดังอยู่แล้ว และศิลปินอินดี้ที่ทำเพลงสารพัดแนวมาอีก ฉันคิดว่าความสำคัญของอีเวนต์แบบนี้คือการนำเอาทุกแนวดนตรี จากทุกวงดนตรีมารวมตัวกัน มันน่าตื่นเต้นมากๆ เลยนะคะที่ได้มีโอกาสสำรวจแนวเพลงหลากหลายขนาดนี้ในพื้นที่เดียวกันค่ะ”


“ผมเพิ่งจะบอกคนอื่นไปหยกๆ ว่าผมอยากจะให้โชว์นอกประเทศครั้งแรกของผมเกิดขึ้นที่ประเทศไทย และผมก็ได้มาร่วมงาน BMC นี้ เหมือนฝันเป็นจริงเลยครับ นี่เป็นโอกาสอันดีมากๆ สำหรับผมที่จะได้แสดงความสามารถของผมต่อหน้าคนดู ได้แบ่งปันความรักที่ผมมีต่อดนตรีของผมกับคนอื่นๆ และผมตื่นเต้นเสมอเวลาได้เจอคนใหม่ๆ ในกลุ่มคนดูของผม ผมพร้อมมากๆ เลยครับสำหรับโอกาสครั้งสำคัญที่ BMC มอบให้กับผมในครั้งนี้ ขอบคุณมากจริงๆ ครับ”


“ฉันรู้สึกตื่นเต้นมากๆ เลยค่ะ นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้มากรุงเทพฯ เลยหวั่นๆ นิดหนึ่ง แต่ดีใจที่ได้มาร่วมงาน BMC นะคะ สำหรับฉัน งานนี้เหมือนเป็นการเปิดโอกาสการมองเห็นให้กับศิลปินที่ไม่เคยมาแสดงที่ประเทศไทย เป็นเพราะมิวสิคโชว์เคสนี้เลยนะคะที่ทำให้ฉันได้มีโอกาสมาทำงานที่นี่ ได้สัมภาษณ์สื่อหลายหัว และนี่เป็นโมเมนต์อันล้ำค่าที่จะทำให้ฉันได้ร้องเพลงของฉันให้ทุกคนฟังค่ะ ฉันดีใจและขอบคุณรัฐบาลของฉัน และ TAICCA มากๆ เลยนะคะสำหรับโอกาสครั้งนี้ มันดีมากจริงๆ ค่ะ ขอบคุณจากใจ”


“พวกเราเดินทางมาดูงาน Maho Rasop Festival และ Wonderfruit ที่ประเทศไทยกันบ่อยๆ ฝันอยากจะมาเล่นดนตรีที่นี่สักครั้ง ตื่นเต้นมากเลยครับกับโอกาสครั้งนี้ รู้สึกว่าได้เติมเต็มไปเลย และมิวสิคซีนที่นี่ใหญ่กว่าประเทศมาเลเซียมากจริงๆ ครับ มีอะไรให้ดูทุกคืน และทุกที่ เต็มไปหมดเลย และที่สำคัญ คนไทยดูจะสนับสนุนวงดนตรีไทยมากๆ เลยครับ นั่นเป็นเรื่องที่ดีและทำให้เราประทับใจมากๆ ขอบคุณ BMC ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินจากหลากหลายประเทศได้มีพื้นที่เล่นดนตรี ได้โชว์ศักยภาพทางดนตรีใหักับคนอื่นบนโลกนี้ และนี่เป็นหนทางที่จะทำให้พวกเราได้มีโอกาสส่งออกดนตรีของพวกเราไปสู่สายตาประชาคมโลกโดยการเชื่อมโยงวงดนตรีเล็กๆ อย่างพวกเราเข้ากับคนใหญ่คนโตในวงการธุรกิจดนตรีด้วยครับ”


“เราไม่ค่อยได้เล่นที่เวนิวกลางแจ้งใหญ่ๆ แบบนี้เท่าไหร่นะครับ ปกติจะเล่นในไลฟ์เฮ้าส์ที่ประเทศญี่ปุ่น พวกเราดีใจมากๆ เลยครับที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งใน BMC แฟนๆ ชาวไทยพลังงานล้นเหลือมากเลยครับ แฟนๆ ที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยคึกขนาดนี้ ผมดีใจมากที่ได้มาเล่นที่นี่ครับ ผมดีใจที่ประเทศไทยมีงานอย่าง BMC เพราะมันแสดงให้เห็นว่าวงการดนตรีไทยกำลังเปลี่ยนแปลง และเฟสติวัลแบบนี้เป็นจุดผลักดันสำคัญที่ทำให้ศิลปินไทยได้เชื่อมต่อกับตลาดต่างประเทศครับ สำหรับพวกเราที่เน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก ที่นี่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของพวกเราเลยครับ”


“นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้มามิวสิคโชว์เคสเฟสติวัลที่ประเทศไทย ตื่นเต้นมาก และรู้สึกดีมากๆ เลยครับ มิวสิคซีนที่นี่แตกต่างจากประเทศเรามากๆ เลยครับ มีอะไรให้ดูเยอะแยะมากมายจริงๆ คนดูก็เปิดรับเพลงหลากหลายมาก ที่เมียนมาร์นี่ร็อกกับเมทัลไม่แมสเลยครับ แต่ที่ประเทศไทยคนฟังเพลงร็อกกันเยอะมาก คุณอาจจะคิดว่ามันไม่เยอะ แต่ถ้าเทียบกับประเทศเรา มันเยอะมากจริงๆ ครับ อีเวนต์นี้ให้โอกาสเล็กๆ กับพวกเราได้มีที่ยืนในอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก เป็นอีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่มากๆ สำหรับพวกเราในฐานะศิลปินจริงๆ ครับ”
Photographs Courtesy of Live Nation Tero by DOTDF