หมอเอ้ว-นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา เป็นที่รู้จักในฐานะนักเล่าเรื่อง ไม่ว่าด้วยคำพูดหรือการเขียน ผลงานของหมอเอ้วทำให้เรื่องที่ควรปิดตายในหนังสือเรียนกลับเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว มีชีวิตชีวาและน่าสนใจ (สารภาพตรงนี้ เราเองก็เป็นผู้ฟังขาประจำ) ในวันนี้ ณ ออฟฟิศของนิตยสาร Esquire ผมมีนัดพูดคุยกับเขา ต้องบอกว่าตลอดระเวลาการสัมภาษณ์หมอเอ้วเสิร์ฟเรื่องราวชวนสนุกทั้งวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์จนอิ่มหนำ ไม่ต่างจากที่เราติดใจในพอดแคสต์ หลงไปในประวัติศาสตร์ หรือหนังสือ เรื่องเล่าจากร่างกาย รสชาติเนื้อหาบนโต๊ะนี้อร่อยไม่น้อยกว่าผลงานก่อนๆ เพียงแต่การสนทนาสดๆ จากเชฟคนโปรดทำให้ได้สัมผัสรสชาติที่เราเกือบลืมไปแล้ว
ความสุขคือวัตถุดิบที่หมอเอ้วใช้ในการปรุงครั้งนี้ ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวของเรา ความสุขคล้ายเป็นเรื่องจับต้องได้ยาก เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม วันนี้มีความสุขก็ดี แต่ถ้าไม่พบก็ไม่เป็นไร เพียงแต่การนิยาม ความสุข จากหมอเอ้ว ทำให้เรามองโลกในอีกรส ทั้งยังเข้าใจความสุขได้อย่างมีที่มาที่ไป ซึ่งมันไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าธรรมชาติของมนุษย์
วิทย์ไม่เคยตรงข้ามกับศิลป์
เมื่อหมอเอ้วอยากเล่าเรื่อง ไม่ว่าเรียบง่ายหรือซับซ้อน เขาสามารถเรียงลำดับเหตุการณ์หน้ามาหลังอย่างเป็นลำดับชัดเจน ไม่ต้องเป็นคนเรียนเก่งก็เข้าใจได้ พร้อมชี้ให้เห็นถึงเหตุผลและข้อเท็จจริงในหลายๆ ด้านเสมอ เป๊ะและแม่นยำ เราสามารถใช้คำนี้อธิบายได้เลย ทั้งนี้เส้นทางก่อนมาเป็นนายแพทย์ในวันนี้หาได้ตั้งใจกำหนดตั้งแต่ต้น
“การเข้ามหาลัยในสมัยก่อนต่างจากยุคนี้มาก เด็กมีโอกาสรับรู้เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ น้อย ฉะนั้นคนจะเรียนตามค่านิยม อย่างตัวเราเองตอนเข้ามหาลัยก็ยังไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร ไม่ใช่คนที่เก่งชีววิทยาด้วย เป็นอีกคนที่เข้ามหาลัยตามค่านิยม เลือกปนๆ กันไป เลือกหมอ เลือกวิศวะ และยังมีบัญชีและเศรษฐศาสตร์”
แม้เมื่อตอนได้เป็นนักเรียนแพทย์แล้ว หมอเอ้วในห้วงเวลานั้นก็ยังไม่พบตัวเอง จนกระทั่งได้พบกับคนไข้ การได้รักษา การได้เห็นเพื่อนมนุษย์ผู้ล้มป่วยกลับมาแข็งแรง เห็นครอบครัวของเพื่อนคนนั้นมารับกลับบ้าน การพบประสบการณ์เหล่านั้นทำให้หมอเอ้วมีแรงผลักดันกว่าเคย
“ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าเรามาถูกทาง มีแรงจูงใจทำให้อยากอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะอยากเป็นหมอที่รักษาคนไข้เก่ง” ซึ่งการเพิ่มอุปนิสัยรักการอ่านนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หมอเอ้วพบอีกบทบาทที่อยากเป็น นั่นคือนักเล่าเรื่อง
หมอเอ้วนิยาม ด.ช.เอ้ว ว่าเป็นนักเรียนธรรมดาคนหนึ่ง ธรรมดาที่สุดสำหรับการเป็นนักเรียน คือเรียนและสอบเพื่อเอาตัวรอดไปเรื่อย ๆ แต่แล้วเมื่อได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา จึงได้พบและหลงใหลหนังสือประเภท Popular Science หรือการเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ที่สนุกและจับต้องได้ ไม่ใช่อ่านเพื่อไปสอบ
“มันทำให้เราเห็นว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกัน องค์ความรู้ไม่ใช่แค่หัวข้อในชีทเรียน มันเกี่ยวโยงถึงมนุษย์ ประโยคบางประโยคในตำราหนา ๆ คือผลงานของคนทั้งชีวิต หรือเป็นข้อเท็จจริงที่ส่งต่อกันมาหลายชั่วคน แล้วกลายเป็นข้อสรุปบรรทัดเดียว เราอินกับเรื่องพวกนี้ เหมือนได้ดูหนังดี ๆ แล้วอยากบอกต่อ” ความรักการอ่านจากวิทยาศาสตร์ก็ลุกลามไปวิชาต่างๆ
การมองโลกของหมอเอ้วไม่ได้แยกฟิสิกส์ ชีวะ เคมี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา ตลอดจนภาษา แต่มองในแง่ประวัติศาสตร์เชิงลึกของมนุษยชาติ สังเกตการณ์ไปถึงยุคล่าสัตว์หาของป่า การมีตำนานต่างๆ การคิดแบบปรัชญา การมีศาสนา จนถึงการเข้ามาของวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิทยาศาสตร์ที่หมายถึงไม่ใช่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใดๆ แต่เป็นวิธีคิด
“ความเชื่อหรือศาสนามีลักษณะเป็นการเล่าต่อกันมา เน้นความเชื่อกับศรัทธาเพราะองค์ความรู้มักทดสอบไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนปฏิวัติวิทยาศาสตร์ มันไม่ได้มีเทคโนโลยีหรืออะไรเกิดขึ้น แต่เป็นวิธีการศึกษา เปลี่ยนกระบวนการหาความรู้ เรายกสิ่งที่เราเชื่อทั้งหมดไปก่อน ถือว่าหมายเหตุไว้ว่าเดิมทีเราเชื่อแบบนี้ จากนั้นก็เปลี่ยนมาใช้วิธีการตั้งสมมุติฐาน แล้วก็วิเคราะห์ว่ามีหลักฐานรองรับแค่ไหน” ขณะที่หมอเอ้วอธิบายเพลิน ๆ สถานะเราก็เปลี่ยนจากผู้สัมภาษณ์เป็นนักเรียนโดยไม่รู้ตัว
“กระบวนการคิดตั้งอยู่บนหลักฐานและข้อมูล เพราะฉะนั้นความเชื่อจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คนที่เรียนวิทยาศาสตร์จะบอกเลยว่าวิทยาศาสตร์ไม่มีวันถูกต้อง เพราะต้องปรับไปเรื่อยๆ และทุกครั้งที่แก้ไขของเก่า มันคือความก้าวหน้า เพราะเราจะรู้มากขึ้น” ครูหมอเอ้วอธิบายต่อว่ากระบวนการคิดในลักษณะนี้คล้ายการปาลูกดอก ลูกดอกจะเข้าใกล้เป้ามากขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะไม่ได้เข้าเป๊ะ ๆ เพราะมันไม่มีคำตอบสุดท้าย แต่ลูกดอกจะมากขึ้นนั้นคือชิ้นจิ๊กซอว์ที่ค่อย ๆ เติมเต็มความสงสัยที่เคยว่างเปล่า
กรอบจิ๊กซอร์หรือลูกดอกปาเป้านั้นแหละ คือการสะสมความรู้ของมนุษยชาติในแต่ละเรื่อง
อีกความต่างของวิทยาศาสตร์คือสามารถดีเบตหรือแย้งข้อเท็จจริงกันได้ เมื่อมีข้อมูลชุดใหม่ที่ถูกต้องกว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับได้หากเริ่มกรอบและต่อจิ๊กซอว์ใหม่ทั้งหมด ไม่มีความเสียดายที่จะเก็บความรู้เดิมไว้ข้างหลัง สัญชาติญาณของวิทยาศาสตร์จะตื่นเต้นด้วยซ้ำหากมีอะไรที่ทำให้ต้องคิดใหม่กับความรู้เดิม
มนุษย์แห่งยุคโซเชียล
“เพราะเราไม่เคยเจอข้อมูลหลากหลายขนาดนี้ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร” หมอเอ้วยืนยันอีกเสียง ทั้งในฐานะผู้หลงใหลวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ ว่าตลอดระยะเวลาสองแสนปีของมนุษย์หรือโฮโม เซเปียนส์ ไม่เคยเจอสถานการณ์นี้มาก่อน ตื่นเช้าและเข้านอนพร้อมกับข้อมูลมากมายรายวันจำนวนมหาศาล ใช่… เรากำลังปรับทุกข์กับหมอเอ้วถึงโลกยุคโซเชียลมีเดีย
ภูมิต้านทานแรกที่หมอเอ้วแนะนำคือการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เชื่อได้ก็ต้องเลิกเชื่อได้ พร้อมคิดใหม่อีกครั้ง อย่างที่สองคือการเข้าใจบริบทและยุคสมัยของมนุษย์
“สมัยก่อนข้อมูลไม่ได้มาจากหลายแหล่งมาก มันมาจากที่เดียวแต่ก็ไม่ได้แปลว่าถูก อย่างเช่น ช่วงทศวรรษ 70 ในต่างประเทศ มันจะมีกูรูสอนเรื่องการเลี้ยงลูก แล้วทุกคนก็เชื่อทั้งประเทศ แต่ไม่ใช่ว่ามันถูกทุกข้อ มันมีผิด พอผิดทีก็เข้าใจผิดกันทั้งประเทศ” ตัวอย่างมีหลายเรื่องมาก ๆ ร่วมสมัยที่สุดก็เช่นเรื่องเพศสภาพ ในวันนี้เราไม่ได้มองแค่หญิงหรือชาย แต่เพศของมนุษย์มีมิติที่หลากหลาย ซึ่งกูรูในยุค 70 ไม่ได้มองตรงกับสังคมปัจจุบัน
เช่นเดียวกับเรื่องอาหารการกิน เคยมีการแนะนำว่าโปรตีนคือสารอาหารที่สำคัญที่สุด พวกผักผลไม้เป็นเพียงของเสริม หรือในยุคหนึ่งก็แนะนำให้กินอาหารจำพวกแป้งให้เยอะๆ ซึ่งสวนทางกับคำแนะนำในปัจจุบัน ผลลัพธ์ที่ตามมาคือคนที่ปฏิบัติมานานก็มีโรคติดตัว ดังนั้น การมีความรู้จากทิศทางเดียวจึงไม่ใช่เรื่องที่ดีกว่า
สิ่งที่ทำได้ลำดับถัดมาคือการให้ความสำคัญกับแหล่งอ้างอิง “ส่วนตัวยังเชื่อในสถาบันการศึกษา วิชาการ อย่างหนังสือที่ขายอยู่ใน Amazon ไม่ใช่ทุกเล่มเชื่อได้ทั้งหมด คือเราไม่สามารถบอกได้หรอกว่าใครบอกข้อมูลได้ถูก แต่เราเลือกสถาบันวิชาการต่างๆ เพราะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่พอจะหาได้”
แม้โซเชียลมีเดียมีผลต่อมนุษย์ยุคใหม่ แต่ก็ใช่ว่าสัญชาติเดิม ๆ ของมนุษย์จะเปลี่ยนไป เพียงแต่เทคโนโลยีปัจจุบันกระตุ้นนิสัยชอบเปรียบเทียบของมนุษย์ได้ไวกว่าที่เคย ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรเพราะมันเป็นธรรมชาติ มนุษย์คือสัตว์สังคม และสังคมต้องมีลำดับขั้น อยู่ที่ว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์
เพื่อให้เข้าใจง่าย หมอเอ้วแบ่งไทม์ไลน์ของมนุษย์เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ โดยมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นเส้นแบ่ง สัญชาติของมนุษย์เหมือนเดิมเสมอเพียงแต่หลังการปฏิวัติ ความหลากหลายทางวัตถุมันมากขึ้น “การได้แชร์ (บนโลกออนไลน์) เป็นการบอกถึงสถานะทางสังคม ซึ่งในยุคหินก็แคร์ ในยุคไหนก็แคร์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีระดับชั้น ต่อให้เราพยายามจะไม่มี แต่จากประวัติศาสตร์ มันมีชนชั้นทุกยุคสมัย ขึ้นอยู่กับว่าใช้อะไรเป็นตัวกำหนด อย่างเช่นคนไทย ถึงเราบอกว่าไม่มีชนชั้นทางสังคม แต่เราก็มีชนชั้นทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมาก มันคือรากทางสังคมเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่เป็นกลุ่ม”
“ปัญหาใหญ่ข้อเดียวเลยคือมันทำให้เราเทียบกันได้ง่ายขึ้น ไม่เคยมียุคไหนที่ง่ายขนาดนี้ มนุษย์มีสัญชาติญาณที่จะเทียบกับคนอื่นเพราะมันคือการได้รับการยอมรับ มนุษย์มีสัญชาติญาณที่ต้องการไต่เต้าสถานะทางสังคม” โดยการอัปเกรดสถานะทางสังคมนี่เองที่ทำให้โอกาสเข้าถึงทรัพยากรง่ายขึ้น มีอาหารที่ดีกว่า มีที่อยู่ที่ปลอดภัยกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยนแม้ในยุคเหลาหอกเพื่อมาล่าสัตว์หรือยุคออเดอร์อาหารจากสมาร์ทโฟน
ย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่เรื่องแย่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจระหว่างธรรมชาติของมนุษย์คืออะไร และสังคมในอุดมคติว่าเราอยากให้มันเป็นแบบไหน สองสิ่งนี้ต่างกัน มนุษย์มีความสามารถในการสร้างกฏเกณฑ์ต่างๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของเราเองให้เป็นสังคมที่เราต้องการ เรารู้ว่าสังคมที่ไม่เหลื่อมล้ำนั้นสงบสุขกว่า มีความขัดแย้งน้อยกว่า นี่คือเหตุผลว่าทำไมมนุษย์พยายามออกแบบสังคมที่มีความเท่าเทียม แต่ในขณะเดียวกันก็มีกรณีคอมมิวนิสต์ที่สุดโต่งจนเกินไป ผลลัพธ์ที่ได้คือความล้มเหลว การออกแบบสังคมในอุดมคติจึงเป็นอีกกรอบจิ๊กซอว์หรืออีกเป้าลูกดอกของมนุษยชาติ
แล้วมนุษย์มีความสุขยากขึ้นหรือเปล่า
ถามได้ถูกคน หรือจะบอกว่าเราปรับทุกข์ถูกคนก็ได้ หมอเอ้วอธิบายความสุขจนเราเห็นภาพ ไม่ใช่เราคนเดียวที่ไขว่คว้าหาความสุข แต่นักวิทยาศาสตร์ก็หาคำตอบจากสิ่งนี้เช่นกัน ไม่ได้ยึดกับวัตถุหรือบุคคลแต่มองจากสารสื่อประสาท
“เคมีตัวแรกคือโดปามีน (Dopamine) ธรรมชาติของมันคือความสุขระยะสั้น เช่น การได้กินอาหารอร่อย ได้เงินทองก้อนโต การได้รางวัลใดๆ ทั้งหลาย ตลอดจนเซ็กซ์ สิ่งเร้าเหล่านี้คือความคาดหวังว่าฉันต้องได้ ถ้าฉันได้ ฉันจะมีความสุขมากๆ แต่พอได้ปุ๊บกลับมีความสุขแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ความสุขประเภทนี้อาจสั้นแค่ไม่กี่วัน เวลาผ่านไปก็จะลดลง” หมอเอ้วอธิบายต่อเช่นฟุตบอลทีมโปรดได้แชมป์ ก่อนนัดชิง เราอาจนึกในใจว่ายอมแลกทุกอย่าง อยากเห็นทีมผีแดงได้แชมป์อีกสักที ซึ่งเราจะมีความสุขที่สุดเมื่อวันนั้นมาถึง จากนั้นความปลื้มปิติก็จะลดลงตามเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีฤดูกาลถัดมาที่ยากลำบาก เรากลับเป็นทุกข์อีกครั้ง (อันนี้เรื่องสมมุติ)
“เคมีต่อมาคือเซโรโทนิน (Serotonin) ให้ความรู้สึกเติมเต็มกับชีวิต มองภาพปัจจุบันกว้างๆ แล้วรู้สึกว่า ฉันแฮปปี้กับชีวิตดี รู้สึกชีวิตสมดุลพอใจกับชีวิตที่ฉันมีอยู่ มันไม่ต้องมีเหตุการณ์พิเศษอะไร อีกเคมีคือออกซิโทซิน (oxytocin) คือความรู้สึกที่เราไม่โดดเดี่ยว มีคนที่เราพึ่งพิงได้ มีเพื่อนแท้ มีครอบครัวที่ดี ถ้าวันหนึ่งฉันลำบาก ฉันมีคนช่วยเหลือเกื้อกูล หากเราร่วงหล่นจะมีตาข่ายรองรับ แต่เป็นตาข่ายจากสังคม”
เมื่อสังเกตดูจะพบว่าความสุขล้วนเป็นเรื่องที่ต้องหามาและรักษาไว้ ซึ่งก็แล้วแต่บุคคลว่าใครความสำคัญกับสิ่งไหนมากที่สุด โดยหมอเอ้วให้คำใบ้ว่าการลงทุนความสุขที่แชร์ร่วมกับผู้อื่น คุ้มค่าที่สุด
ในยุคสมัยที่มียอดเอ็นเกจเมนต์เป็นอีกเกณฑ์สำหรับการแบ่งสถานะ ดูเหมือนว่าเราให้น้ำหนักกับโดปามีนสูงกว่าที่ควร ต่อให้เรามีสิ่งของเครื่องใช้ หรือรูปลักษณ์ที่ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่กลับไม่พึงพอใจเพราะเทียบกับเพื่อนมนุษย์ได้ไวกว่าเดิมมาก เพียงแค่ปลดล็อคโทรศัพท์ไม่กี่นาทีก็จะพบบรรทัดฐานใหม่ๆ เสมอ ฉะนั้นโปรดอย่าเพิ่งรู้สึกแปลกแยก เพราะนี่คือธรรมชาติของมนุษย์มาโดยตลอด ย้ำอีกครั้ง เพราะนี่คือธรรมชาติของมนุษย์
ยกตัวอย่างความสุขผ่านการใช้เงินสักก้อน ถ้าซื้อมาแล้วสุขคนเดียว คุณจะมีความสุขจากโดปามีน มันมักเป็นสุขกับวัตถุชิ้นนั้นอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปสุขนั้นกลายเป็นความธรรมดา แต่ถ้าคุณใช้เงินก้อนเดียวกันนั้นซื้อประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก ครอบครัว อาจไปเที่ยวด้วยกันสักทริป แล้วขณะเที่ยวก็บันทึกภาพถ่าย วีดีโอเก็บช่วงเวลาสนุกๆ ไปด้วย
“คำถามคือ ในความรู้สึกของเราวัตถุชิ้นนั้นราคาเท่าเดิมอยู่ไหม ให้จ่ายเงินเท่าเดิมยังจะซื้อมันอยู่หรือเปล่า อันนี้ไม่ได้มองในแง่ค่าเงินหรือมูลค่าลดลงนะ มองในแง่เคมีทางสมองซึ่งความสุขจากสิ่งนั้นลดลงเรื่อยๆ แต่ถ้าขอซื้อต่อในราคาเดิมกับความทรงจำนั้นๆ ขอลบรูปทิ้งหมดเลยนะ ลบความทรงจำ ลบวีดีโอที่เคยถ่าย หลายคนจะบอกว่าไม่ยอม จ่ายเท่าไหร่ก็ไม่ยอมลบ มันคือมูลค่าความสุขร่วมกับผู้อื่น ยิ่งเวลาผ่านไปมูลค่ามันยิ่งเพิ่มขึ้น”
ไม่ว่าจะในยุคไหนสัญชาติญาณของมนุษย์ก็ไม่ต่างจากเดิม ความสุขเองก็เช่นกัน เพราะมนุษย์ต่างต้องการเป็นที่รัก หมอเอ้วให้ความกระจ่างเป็นอย่างดี แต่ถ้าใครยังไม่อิ่มความรู้จากนายแพทย์หนุ่มท่านนี้ สามารถติดตามผลงานผ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ ซึ่งตอนนี้มีหลายเล่มให้เลือกสรร รวมถึงผลงานส่วนตัวบนโลกออนไลน์ในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยูทูวบ์ เฟซบุ๊ก และสปอติไฟน์ ตลอดจนรายการ Human-ศาสตร์ ที่เขาทำ เราเชื่อว่าจะทำให้คุณเข้าใจเหตุผลของชีวิตมนุษย์มากขึ้น แล้วเมื่อเข้าใจมากขึ้น คุณก็จะสามารถเชื่อมต่อจุดแห่งเหตุเหล่านั้นได้อย่างเชื่อมโยง ความสุขในชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
Story by SITHIPONG TIYAWARAKUL
Photographs by PONPISUT PEEJAREON