สำหรับนาฬิกากับผู้ชายก็เปรียบเสมือนคู่แท้ที่ขาดกันไม่ได้ ซึ่งหากมีใครที่อยากเริ่มต้นในเส้นทางของนักสะสมนาฬิกา แต่กังวลว่าตัวเองจะดูแลรักษาสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้ได้ไม่ดีพอ วันนี้เอสไควร์ ประเทศไทย ขอนำเสนอวิธีการง่าย ๆ ในการดูแลและเก็บรักษาเรือนเวลาให้อยู่กับคุณได้นานขึ้น จะมีอะไรกันบ้าง ไปดูพร้อมกันเลยครับ
● นาฬิกาใหม่ งอสายก่อนใช้งาน
สำหรับแฟนนาฬิกาสายหนังที่เพิ่งถอยมาใหม่ ก่อนสวมใส่ใช้งานครั้งแรกควรที่จะทำการ “ดัดสาย” ก่อน เพราะจะช่วยให้สายหนังนั้นโค้งงอตามข้อมือได้อย่างพอดี และไม่ไปงอที่ Weak Point ทำให้สายนาฬิกาเสียรูป ส่วนวิธีการดัดสายนั้นก็ไม่ยากเลย เพียงแค่ดัดสายข้อแรกที่ใกล้กับตัวเรือนที่สุดให้โค้งอย่างพอดีรับกับข้อมือของคุณก่อนที่จะสวมใส่ ไม่หัก หรือดัดสายให้โค้งงอจนเกินไป
● ไขลานให้ดีอย่าให้มีเกิน
สำหรับนาฬิกา Mechanical หรือนาฬิกาจักรกลนั้นสามารถแบ่งตัวกลไกออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ก็คือ ระบบ Manual และระบบ Automatic โดยการขึ้นลานของสองระบบนั้นมีข้อควรระวังที่แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
นาฬิการะบบ Manual จะต้องไขลานเพื่อให้นาฬิกาทำงานในเวลาที่จำกัดตามกำลังลาน โดยหากไขลานจนฝืดหรือตึงมือแล้ว ก็ให้จบแค่นั้น อย่าไขลานเพิ่ม หรือฝืนไขเพิ่มอีก เพราะว่างานจะเข้าเนื่องจากกลไกเสียหาย หรืออาจเสี่ยงที่จะเกิดอาการลานขาดได้
สำหรับนาฬิกา Automatic จะมีความสะดวกสบายมากขึ้นอีกสักหน่อย เพราะนอกจากการไขลานแล้ว ก็ยังมีองศาการขยับข้อมือที่เป็นอีกหนึ่งการเพิ่มพลังงานให้กับนาฬิกาได้ขับเคลื่อนไปได้ แต่ก็ขอแนะนำว่าให้ไขลานก่อนใช้งาน เพื่อให้แน่ใจว่านาฬิกาจะมีพลังงานสำรองที่เพียงพออย้างแน่นอน ส่วนในเรื่องของข้อควรระวังในการไขลานนั้นมีอยู่ข้อเดียวคือ ห้ามไขลานระหว่างที่สวมนาฬิกาอยู่บนข้อมือโดยเด็ดขาด เนื่องจากการไขลานบนข้อมือนั้นเป็นองศาการไขลานที่ไม่ถูกต้องส่งผลต่อการทำงานของกลไกนาฬิกา
● วิธีวางนาฬิกาที่ถูกต้องเมื่อไม่ได้สวมใส่
หลังจากใช้งานมาทั้งวันแล้ว ก็ถึงเวลาวางนาฬิกา ให้น้องได้พักอย่างถูกต้องกัน สำหรับนาฬิกาสายหนัง แนะนำให้วางแนบลงกับพื้น โดยหงายหน้าปัดขึ้นเพื่อไม่ให้สายหนังงอผิดรูป หรือในบางแบรนด์ก็จะมีกล่องยาวสำหรับบรรจุนาฬิกา ก็สามารถวางนาฬิกาลงไปในกล่องยาวนั้นได้
สำหรับนาฬิกาสายเหล็ก/ โลหะ แนะนำให้เก็บใส่กล่องที่มีหมอนนาฬิกา และในกรณีที่จำเป็นต้องวางไว้ข้างนอกกล่อง ให้วางในลักษณะแนวเอียงบนวัสดุอ่อนนุ่มเช่น ผ้ากำมะหยี่ หรือแผ่นยาง เป็นต้น โดยให้เม็ดมะยมแตะลงพื้น ซึ่งเหตุผลที่แนะนำให้วางเม็ดมะยมลงกับพื้น เพราะว่าเม็ดมะยมเป็นชิ้นส่วนที่เปลี่ยนได้ง่าย หรือซ่อมได้ง่ายกว่าตัวเคสนั่นเอง
● ว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยน Date และ Day
คู่มือส่วนใหญ่มักบอกว่า ไม่ควรเปลี่ยน Day และ Date ในช่วงเวลา 21.00-03.00 น. (ส่วนของ Casio นั้นไม่ควรเปลี่ยนในช่วง 21.00 – 5.00 น.) เหตุเพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่กลไกและจักรในส่วน Day/Date กำลังเริ่มทำงาน ในส่วนของนาฬิกาควอตซ์ ส่วนใหญ่เป็นการปรับ Date มากกว่า Day จะสะดวกกว่านาฬิกาอัตโนมัติ แค่ดูเวลาที่ไม่ใช่ช่วง 21.00 – 3.00 น. ก็ปรับได้เลย
● “ความชื้น” ภัยเงียบของคนมีเวลา
สิ่งที่มองข้ามไม่ได้สำหรับคนที่มีนาฬิกาหลายเรือน และบางเรือนก็นานๆ จะหยิบมาใส่สักที นั่นก็คือ “ความชื้น” ที่จะค่อยๆทำลายทุกส่วนของนาฬิกาโดยเฉพาะสายหนัง หรือว่าจะเป็นฟันเฟืองภายในตัวเรือน ข้อแนะนำแรกๆ คือควรเก็บนาฬิกาไว้ในตู้เซฟ เพราะสามารถรักษาอุณภูมิได้คงที่ แถมด้วยการเพิ่มกล่องซิลิก้าเจล ซึ่งเป็นสารดูดความชื้นเข้าไปด้วยจะเป็นวิธีที่ดีมาก เลือกชนิดที่เป็นเม็ดเปลี่ยนสีได้เมื่อได้รับความชื้น จะได้เป็นเหมือนสัญญาณ บ่งบอกว่าถึงเวลาเปลี่ยนสารดูดความชื้นเซ็ทใหม่แล้ว