Story by Boonake A.
Photography by Ponpisut Peejareon
ท่ามกลางแสงไฟหลากสีที่เล็ดลอดออกมาจากกระจกบานใหญ่ของร้าน ‘Taopiphop Bar Project’ ในช่วงหัวค่ำของวัน[ภายใต้บรรยากาศอันเยียบเย็นของสายฝนที่เพิ่งหยุดตกไปได้ไม่นาน เรามาที่นี่เพราะมีนัดสัมภาษณ์แบบยาวๆ กับ ‘เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร’ ส.ส พรรคประชาชน
การมาเจอกับเท่าพิภพในครั้งนี้ คงไม่มีเรื่องใดที่จะเหมาะไปในการพูดคุยมากไปกว่าเรื่อง ‘สุราก้าวหน้า’ ที่เขาเป็นคนริเริ่มนับตั้งแต่โดนจับเป็นผู้ต้องหาในคดีต้มเบียร์เถื่อน จนถึงวันที่เขาพลิกชีวิตกลับมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และยังเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างมิได้ย่นย่อ
อะไรคือแรงบันดาลใจให้เขาทำมันขึ้นมา รวมถึงเรื่องราวระหว่างทางในการสร้างร่างกฏหมายดังกล่าวจะเผชิญอุปสรรคปัญหาในรูปแบบใดบ้าง ตลอดจนกฎหมายฉบับนี้จะเปลี่ยนแปลงนิเวศวิทยาการของการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศเราไปได้มากน้อยแค่ไหน เขาพร้อมแล้วที่จะตอบทุกคำถามที่เราสงสัยในการพูดคุยนี้แบบเปิดอก
เมื่อ ‘สุราก้าวหน้า’ เริ่มต้นขึ้นจากความไม่เท่าเทียม
เท่าพิภพอธิบายต่อถึงการเกิดขึ้นของ พรบ.สุราก้าวหน้า ในช่วงเริ่มต้น เขาเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นจากคำเพียงเดียวว่า “ไม่เท่าเทียม” ในมิติเชิงโครงสร้างของธุรกิจเบียร์ และสุรารูปแบบต่างๆ ที่มีความไม่เท่าเทียมกันทั้งแง่การผลิต และอัตราการเสียภาษี เป็นเสมือนกำแพงใหญ่ขวางการเข้าถึงการผลิตเพื่อจำหน่ายของผู้ประกอบการรายเล็ก
“มันก็เลยเป็นภาพใหญ่ที่จะต้องแก้กฎหมาย จริง ๆ ต้องแก้ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการของใบอนุญาตการผลิต เรื่องที่ 2 คือกฎหมายควบคุมเรื่องเวลา เรื่องที่ 3 ก็คือเรื่องของภาษี”
เรื่องการแก้กฎหมายภาษีคือเรื่องสำคัญมากเท่าพิภพเน้นคำพูดของเขาราวกับว่าถ้าพิมพ์ออกมาเป็นคำพูดได้คงจะเป็นตัวอักษรที่หนามาก ซึ่งในความคิดของเขารัฐเองควรมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Incentives) ไว้เป็นตัวช่วยเรื่องต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก
“อธิบายให้เห็นภาพนะครับก็คือสมมุติสแตมป์ภาษีตัวละ 50 บาทก็จะคิดเป็นตัวคูณหนึ่งต่อแสตมป์หนึ่งดวง ทีนี้เมื่อต้องจัดเก็บรายเล็กก็เอาสูตรนี้มาใช้เช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนตัวคูณลดลงไปที่ 0.8 หรือจะน้อยกว่านั้นก็ตามแต่แค่นี้รายเล็กก็จ่ายน้อยลงแล้ว”
“เรื่องทุนผูกขาดมันก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ คือถ้าการเมืองมันเป็นระบบที่มันปิดอยู่อย่างนี้นักการเมืองรับเงินของรายใหญ่เพื่อมาทำนโยบาย สุดท้ายการออกนโยบายใดๆ ถ้ามันถูกคิดมาเพื่อให้กลุ่มคน 0.1 % ของประเทศได้ประโยชน์ ก็ไม่แปลกที่ประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย”
เท่าพิภพอธิบายต่อถึงการสร้างแนวคิดสุราก้าวหน้าว่า เขาไม่ได้สร้างมันขึ้นมาจากความเกลียดชังคนรวย เพียงแต่เขาต้องการเรียกร้องให้ทุกคนเห็นว่าความรวยที่เกิดขึ้นนั้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร รวมถึงการสะท้อนให้เห็นภาพของการขาดแคลนในโอกาสที่จะเข้าถึงความมั่งคั่งของคนไทยส่วนใหญ่ ทั้งหมดทั้งมวลก็ย้อนไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมอีกเช่นเดิม
รวมความหลากหลายไว้ด้วยหนึ่งอุดมการณ์
หลังจากที่เท่าพิภพได้อธิบายคอนเซปต์ไอเดียสุราก้าวหน้าให้เราฟังจนมองเห็นภาพตามได้ ในขั้นตอนการนำไอเดียมาแปรเปลี่ยนเป็นการปฏิบัตินั้นมีวิธีการอย่างไร ตรงนี้คือสิ่งที่เราสนใจ
“ผมก็ใช้วิธีการจัดตั้งธรรมดาเลยครับก็หาแกนนำและแนวร่วมก่อน ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้ผมรู้จักทุกคนอยู่แล้ว ก็ไปทำงานสร้างเครือข่ายร่วมกับสเตกโฮลเดอร์ โดยตรงที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ จนได้ความคิดเห็นจากหลายๆ ส่วน ก็เอาสิ่งเหล่านี้รวบรวมมาทำเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งผมเป็นคนร่างกฎหมายตัวนี้ขึ้นมาเอง”
วิธีที่เท่าพิภพพูดมันดูง่ายมากเลย จนผมนึกในใจว่ามันแค่นี้เองหรอ แต่เขาก็รีบดับฝันผมทันทีเนื่องจากขั้นตอนที่ว่ามันไม่ได้ง่ายแบบนั้น ในช่วงเริ่มต้นของการรับฟังความคิดเห็น มันจะมีคำบ่นๆๆๆ แล้วก็บ่น รวมถึงเสนอความต้องการที่แตกต่างกันไปในตัวบทกฎหมายที่จะถูกร่างขึ้น ซึ่งเท่าพิภพยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะบรรจุเอาความฝันและความถูกใจของทุกคนเข้าไปในร่างกฎหมายนั้นได้ทั้งหมด
“คือผมจะนำเสนอในสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เอาเป็นว่าผมบาลานซ์มันให้ดีที่สุดก่อนเอาสิ่งเหล่านี้กลับไปคุยในกลุ่มอีกรอบบางทีมันไม่ได้ 100 % อาจต้องลดลงมา 90-80% อันนี้ก็ต้องใช้ความสามารถในการอธิบาย เพราะบางครั้งคุณต้องยอมรับว่าการทำงานกับเครือข่ายอันหลากหลายนั้น แต่ละกลุ่มก็จะมีความต้องการที่แตกต่างกันในรายละเอียด ซึ่งความแตกต่างกันตรงนี้บางครั้งมันก็มีที่ผิดใจกันบ้าง แต่โดยรวมทุกอย่างก็โอเคดีครับ”
เราถามเขาถึงวิธีการจัดการความยุ่งเหยิงในการรักษาบาลานซ์ของความต่างทางความคิดในกลุ่มเครือข่าย เขายิ้มและถอนหายใจเบาๆ ก่อนเล่าให้เราฟังว่าเขาเข้าใจทุกความต้องการตรงนั้นเป็นอย่างดี ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่คนกลางอย่างเขาจะทำได้ก็คือการรับฟังทุกความคิดเห็นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกว่าใครเป็นพวกใคร
“คือเข้าใจว่าการทำแบบนี้มันคือการเสิรฟ์ความคาดหวัง แต่ในฐานะคนทำงานผมก็ต้องทำให้เขารู้ด้วยว่าปลายทางมันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เขาหวังนะ เพราะปลายทางมันไม่ได้มีแค่ผมคนเดียว ยังมีกลไกทางสภาอยู่ ส่วนถ้าใครจะดื้อก็ดื้อได้ แต่สุดท้ายอธิบายไว้ก่อนว่ามันไม่ใช่ผมที่เป็นคนตัดสินใจ เพราะผมไม่ใช่ประธานาธิบดีที่สามารถเคาะได้ทุกอย่าง มันมีพรรคอื่น มีกรรมาธิการอีกเพียบ ผมต้องพูดความจริงให้เขาเข้าใจตรงนี้”
แล้วจุดลงตัวที่สุดในพรบ.สุราก้าวหน้าที่ทุกฝ่ายรับได้คืออะไร เท่าพิภพอธิบายต่อในประเด็นนี้
“เรื่องใบอนุญาตการผลิตต้องไม่มีขั้นต่ำครับ อันนี้ถือเป็นหัวใจหลัก และเป็นแกนกลางของปัญหา ที่เป็นเหมือนแบริเออร์คอยกั้นไม่ให้ใครเข้าไปเป็นผู้ผลิตได้ง่ายๆ ส่วนเรื่องอื่นๆ ทิอาจจะมีเห็นไม่ตรงกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง มันก็เป็นแค่เพียง 5% ของเนื้อหาทั้งหมดเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โตมากมาย”
เมื่อประชาชนส่งมอบอำนาจนำทางสังคม
ในที่สุดพรบ.สุราก้าวหน้า ที่รวบรวมความคิดอันหลากหลายของผู้ประกอบการธุรกิจสุราชุมชน และบริวเวอร์คราฟต์เบียร์ ก็สำเร็จออกมาเป็นร่างกฎหมายอย่างเป็นรูปเป็นร่างในที่สุด และถูกนำเข้าสภาในชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต” หรือ AKA. สุราก้าวหน้า
เรามาย้ำเตือนกันอีกรอบว่า สุราก้าวหน้า มีสาระสำคัญอย่างไรบ้างกันดีกว่า รูปแบบของ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หรือร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต ฉบับที่พรรคก้าวไกลหรือที่พรรคประชาชนตอนนี้เสนอคือ “ปลดล็อกผลิตสุราเสรี ทลายการผูกขาดนายทุน” โดยรายละเอียดเนื้อหาเน้นไปที่การแก้ไขมาตรการ 153 ที่เป็นปัญหาโดยเฉพาะ ดังนี้
- เพิ่มคำว่า “การค้า” ลงในมาตรา 153 เพื่อเปิดให้ประชาชนสามารถผลิตสุราในครัวเรือนได้ จากเดิมคือ “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีฯ” เปลี่ยนเป็น “ผู้ใดจะประสงค์ผลิตสุราเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีฯ”
- ไม่กำหนดเกณฑ์ในการผลิตเหล้าเบียร์ ทั้งกำลังแรงคน และกำลังเครื่องจักร รวมถึงขั้นต่ำที่ต้องผลิต เพื่อให้ผู้ผลิตรายย่อยเข้าถึงได้
- ในกรณีของการตั้งบริษัทเบียร์ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย
เมื่อปี 2565 ในนามของพรรคก้าวไกล ซึ่งโดนคว่ำร่างไปด้วยคะแนน196 เสียง ต่อ 194 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง เรียกว่าเฉียดฉิวอย่างมาก
จนถึง ณ วันนี้ในปี 2567 เขาก็ยังเป็นหัวหอกในการนำเสนอร่างกฎหมายนี้อยู่เช่นเดิมภายใต้ชื่อพรรคประชาชน และจุดยืนของเขาก็ยังเป็นเช่นเดิม จากวันแรกจนถึงวันนี้ ในเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวมีความเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมหรือไม่เราถาม “ในสาระสำคัญทุกอย่างยังเหมือนเดิมครับ” เท่าพิภพตอบ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในความคิดของเขาก็คือความเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่สุราก้าวหน้าได้มอบมุมมองความคิดใหม่ให้แก่คนในสังคม
“สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมากหลังจากการเกิดขึ้นของสุราก้าวหน้าก็คือการเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจนำ’ ทางสังคมที่มองเห็นคุณค่าของคนตัวเล็กตัวน้อย มองเห็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรายใหญ่กับรายเล็ก มันก็เป็นเหตุผลแบบย่อยที่คนเห็นว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรม ทำไมโอกาสทางเศรษฐกิจของคนจึงไม่เท่ากัน จากเมื่อก่อนถ้าเราพูดถึงเรื่องเหล้า เบียร์ อำนาจนำมันจะไปอยู่ที่เรื่องศีลธรรม ความรุนแรงในสังคม ในครอบครัวที่มีเครื่องดื่มมึนเมาเป็นต้นเหตุ ตรงนี้ชัดเจนที่สุดคือความคิดมันเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนไปจนกระทั่งทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลเห็นด้วยกับเรื่องสุราก้าวหน้า”
ด้วยอำนาจนำเช่นนี้เปิดโอกาสให้ฝั่งผู้ผลิตสุราได้แสดงความคิดเห็นบ้าง จากเมื่อก่อนกลุ่มคนที่พูดเรื่องนี้ถูกจำกัดแค่คนที่ทำหน้าที่ในการห้ามดื่ม หรือเป็นการสื่อสารด้านเดียวถึงความร้ายแรงของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลายเป็นมีการยกประเด็นปัญหาการผลิตขึ้นมาจัดเสวนา เพื่อรับฟังปัญหาในโทนที่มีความเข้าใจกันมากขึ้น นำไปสู่ประเด็นการถกเถียงเรื่องการผูกขาด รวมถึงการจัดเสวนา และงานเบียนคราฟต์ งานสุราท้องถิ่นที่เพิ่มมากขึ้น พัฒนาไปสู่การนำเรื่องดังกล่าวมาสร้างเป็นพรบ. เข้าสู่สภา แล้วใช้สภาเป็นที่ถกเถียงเพื่อหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ในที่สุด
การวัดความสำเร็จของสุราก้าวหน้าในมุมมองของเท่าพิภพ
วัด KPI ความสำเร็จสุราก้าวหน้าไว้ในจุดตรงไหนบ้าง? เราถามเขา เท่าพิภพยังยืนยันเช่นเดิมว่าถ้ามันผ่านปรัชญาในตัวบทของมันต้องเป็นไปเช่นเดิมจึงจะเรียกว่ากฎหมายนี้ประสบความสำเร็จ
“ก็ต้องทำเรื่องโฆษณา เรื่องใบอนุญาต และเรื่องอัตรภาษีเท่าเทียม ให้ครบทุกเรื่อง ไม่มีอะไรที่น้อยกว่านี้ ส่วนที่นอกเหนือจากกฎหมายยกตัวอย่างสุรากลั่นไทย หรือเหล้าขาวเนี่ย เราจะใช้พรบ.สุราก้าวหน้า ช่วยสร้างมาตรฐานเชิงคุณภาพที่สามารถวัดได้ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องการผลิตและรสชาติ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้นิ่งที่สุด จนมีตัวตนที่ชัดเจน ให้คนต่างชาติเวลาเขาอยากกินเหล้าขาวก็เรียกทับศัพท์เลยว่า ‘Lao Khaw’ เหมือนเตกิล่า เหมือนวอดก้า เหมือนแชมเปญ เรดไวน์ สาเก โซจู อะไรแบบนี้ อันนี้คือเป้าสุดท้ายที่เป็น KPI ของวงการสุราไทย” เท่าพิภพย้ำชัด
มาถึงตรงนี้ โอเคเราเข้าใจจนกระจ่างแล้วว่าสุราก้าวหน้าสร้างความเท่าเทียมได้แบบไหน แต่ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกี่ยวกับการดื่มนั้น สุราก้าวหน้าทำงานกับประเด็นนี้อย่างไร
“ตั้งสตินิดนึง สำหรับเรื่องนี้ผมว่าเป็นคนละส่วนกัน แต่เอาเข้าจริงเราต้องรู้ก่อนว่ากฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ของประเทศเรานี่แม่งโคตรเข้มเลยนะ ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพนี่ทั้งจับมัดเชือก ปิดตา แล้วเอาโซ่มาคล้องอีกที อย่างกับนักโทษร้ายแรง คือเราต้องรับผิดชอบต่อสังคมแค่ไหนอีกวะมันถึงจะพอ”
“สุดท้ายมันก็ย้อนกลับมาเรื่องเดิมคือเรื่องบังคับใช้กฎหมายนั่นแหละ ถ้ามันยังห่วยแตกแบบทุกอย่างเคลียร์ได้ เมาแล้วขับรถชนคนตายแล้วแม่งไม่ติดคุก คือจะเอาอะไรกับเรื่องเหล้าวะ ทุกคนรู้ว่าด่านอยู่ไหน ทุกคนรู้ว่าเจอด่านต้องจ่ายยังไง ซึ่งถ้ามันจ่ายไม่ได้ เขาก็จะไม่พยายามจ่ายไงครับ แต่จะโทษตำรวจอย่างเดียวก็ไม่ได้ คนขับก็เอาง่ายด้วย ก็โครงสร้างเป็นแบบนี้ มันก็แก้อะไรไม่ได้หรอก”
ในสังคมที่อุดมไปด้วยความหลากหลายบรรจุเอาหลากหลายความคิดเข้าไว้ด้วยกันทั้งเห็นชอบ เห็นต่างๆ เปลี่ยนไปตามประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับเรื่องสุราก้าวหน้า ในส่วนของคนเห็นชอบก็ดันกันสุดทาง แต่ในส่วนของคนเห็นต่างที่มองเรื่องนี้ด้วยเลนส์ของศีลธรรม ในฐานะส.ส.มีวิธีการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้อย่างไร
“คือเรื่องศีลธรรมมันเป็นเรื่องส่วนตัว แต่กฎหมายมันเป็นเรื่องของรัฐฯ เมื่อเป็นเรื่องส่วนตัว มันเลยอธิบายได้ยากว่าใครมีศีลธรรมมากกว่าใคร ดังนั้นถ้าใครจะมองมันด้วยเลนส์แบบนี้ ผมก็เข้าใจนะ ไม่ปิดกั้นด้วย ผมคุยกับคนเห็นต่างเยอะ ซึ่งผมอธิบายได้ ก็ย้อนกลับมานั่นแหละว่าถ้าเราเชื่อในสิ่งที่เราทำ แล้วเราทำงานกับมันมาอย่างเข้มข้น เราตอบคำถามได้อยู่แล้ว ผมก็เลยไม่ค่อยกลัวที่จะคุยกับคนเห็นต่าง มองมันเป็นความท้าทาย ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้ความรู้ใหม่มามาขบคิด เมื่อเรากลับไปเจอคนเดิมที่ถามเรา แล้วหาคำตอบให้เขาได้แล้ว มันก็เหมือนเราเก่งขึ้นทุกวัน”
“เอาเข้าจริงการเป็น ส.ส. เขาให้เงินเดือนผมมารับฟังความคิดเห็น มาอธิบายให้คนเข้าใจอยู่แล้ว”เท่าพิภพสรุปความถึงการทำหน้าที่นี้ของเขา
ในขณะนี้ที่กำลังเขียนบทสัมภาษณ์ของเขาอยู่นั้นเป็นที่แน่นอนแล้วว่าร่างพรบ.สุราก้าวหน้า ที่นำเสนอโดยพรรคประชาชน ได้ถูกสภาฯปัดตกไปเป็นที่เรียบร้อย แฟลชแบ๊กย้อนกลับมายังโต๊ะสัมภาษณ์ที่เราและเท่าพิภพกำลังนั่งคุยกันอยู่ เราใช้การเดาไปในอนาคตถามเขาว่าหวั่นใจหรือไม่ว่าร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าที่นำเสนอโดยเขาจะถูกปัดตกอีกครั้ง เท่าพิภพนิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนถอนหายใจตอบเรากลับมาด้วยน้ำเสียงเนิบนิ่งว่า
“เอาจริงถ้ามันโนปัดตกไปอีกครั้งผมก็คงเฟลครับ แต่เราก็พยายามสู้ในสิ่งเราเชื่ออย่างถึงที่สุดแล้ว อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดครับ แต่ถึงอย่างไรไม่ว่าร่างไหนมันก็คงผ่านนั่นแหละ เพราะมีร่างของรัฐบาลเข้าไปประกบด้วย ซึ่งร่างนั้นโดยหลักแล้วมันก็มีความคล้ายกันกับของเรา แตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น”
จบการสนทนาที่เราและเขาคุยกันมาเกือบ 2 ชั่วโมง เราถามเท่าพิภพทิ้งท้ายก่อนลาจากถึงเรื่องการทำหน้าที่การเป็นฝ่ายค้านของเขาในวันนี้ สำหรับเขาการเป็นฝ่ายค้านที่ได้ทำหน้าที่เสนอกฎหมายนั้น ก็นับเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเท่าที่เขาจะมีแรงทำได้ในตำแหน่งหน้าที่ตรงนี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเขารู้สึกดีใจที่ได้ผลักดันทำเรื่องสุราก้าวหน้าให้เกิดขึ้นในยุคนี้(แม้ว่ามันอาจไม่ใช่ร่างที่พรรคประชาชนนำเสนอ) ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการเติมเต็มความฝันที่เริ่มต้นจากศูนย์ จนมาถึงร้อยในวันนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่มีอะไรที่เขาต้องเสียใจนับต่อจากนี้อีกแล้ว เขายืนยันกับผมด้วยรอยยิ้ม