“KongGreenGreen” ครีเอเตอร์สายกรีนผู้เชื่อว่าสีเขียวไม่ใช่ขาวกับดำ การเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่การบังคับ แต่ให้ทางเลือกที่เหมาะสมแก่สังคม
ก่อนที่จะเป็นครีเอเตอร์สายกรีนอย่างปัจจุบัน คุณก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ พาเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปช่วงปิดเทอม พบกับ ด.ช. ก้อง สุภาพบุรุษวัยเยาว์ซึ่งกำลังวาดการ์ตูนเป็นช่องๆ ตกแต่งเรื่องราว เย็บเป็นเล่ม ใส่สันปก แล้วรอวันเปิดเทอมเพื่อที่จะเผยแพร่อารมณ์ขันสู่เพื่อนๆ มันคือการผลิตสื่อประเภทหนึ่ง ผู้ลงทุนคือ ด.ช.ก้อง ผู้รับสารคือเพื่อนฝูง ส่วนกำไรคือการที่ ด.ช.ก้อง (แอบ) มองเพื่อนขณะอ่าน หากผู้อ่านมีปฏิกริยายิ้มหรือหัวเราะชัดเจน การ์ตูนทำมือเล่มนั้นได้ทำหน้าที่แล้ว
เราพอนึกออกว่า ด.ช.ก้อง ในตอนนั้นสุขใจแค่ไหน เมื่อบอกว่าที่บ้านเรามีแฟนช่อง KongGreenGreen พ่อและแม่ของเราทำร้านอาหารตามสั่ง แยกขยะและพลาสติกอย่างจริงจัง เพราะดูรายการของคุณก้อง เมื่อทราบเช่นนั้นคุณก้องยิ้มกว้างและขอบคุณเป็นการใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือทำมือของ ด.ช. หรือรายการโทรทัศน์ของโปรดิวเซอร์มากประสบการณ์ หากได้เห็นสังคมน่าอยู่ขึ้น ความรู้สึกคงคล้ายกัน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้คุณก้องดีใจจนเกินไป เราจึงแกล้งแซวไปว่าจริงๆ แล้วช่วงนี้ที่บ้านชอบดูยูทูปเบอร์เกาหลีพาเที่ยวไทยมากกว่านิดหน่อย
KongGreenGreen Begins
“ผมวาดรูปไม่เก่งหรอก แต่มีมุกตลกและเนื้อหาที่อยากใส่เข้าไป” คุณก้องเล่าถึงวัยเด็กไล่เรียงมาจนถึงการเป็นผู้ใหญ่ สิ่งที่ ด.ช.ก้องและคุณก้องมีเหมือนกันคือความชอบในการเล่าเรื่อง ในขณะที่ความต่างคือบทบาทและวิธีการเล่า คุณก้องเล่าถึงระหว่างทาง
“แล้วผมก็ไปเจอศาสตร์การเล่าเรื่องใหม่คือละครเวที เราชอบการเป็นนักแสดง เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที และได้ฝึกงานกับนิตยสาร เราได้ทำสื่อครั้งแรก ตอนนั้นทุกคนไม่ได้เป็นเจ้าของสื่อหรือเป็นนักเล่าเรื่องได้ทุกคน ไม่ได้มีพื้นที่แบบทุกวันนี้ มันก็ต้องใช้สื่ออย่างนิตยสาร แล้วผมก็เริ่มทำรายการโทรทัศน์ มีความฝันว่าอยากทำหนัง อยากเป็นผู้กำกับ เขียนบทหนัง สุดท้ายก็ได้ลองหมด ได้เป็นผู้กำกับโฆษณา เขียนบทภาพยนตร์ คอลัมนิสต์ ครีเอทีฟรายการทีวี พิธีกร” เมื่อวิธีเปลี่ยนผู้รับสารก็เปลี่ยน ไม่ว่าจะด้วยทางตรงหรือทางอ้อม เส้นทางอาชีพของคุณก้องพบปะผู้ชมที่หลายกลุ่มมากๆ ประสบการณ์จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คุณก้องสามารถเล่าเรื่อง (ที่มักถูกมองว่า) น่าเบื่อได้สนุกไม่ต่างจากรายการวาร์ไรตี้
อีกจุดเปลี่ยนสำคัญคือครั้งที่คุณก้องลาออกไปหาความท้าทายที่อเมริกา ทำสิ่งที่วัยรุ่นไทยทำกัน ไม่พ้นเรียนและเสิร์ฟอาหาร แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเลี่ยงความเสี้ยนในการเล่าเรื่อง ถอยกล้องและฮาร์ดดิสก์มาถ่ายสารดคีในวันที่ YouTube ยังไม่แพร่หลายขนาดนี้ ทำไปทำไมไม่รู้ รู้แค่ว่าอยากถ่าย อยากเล่าเรื่อง ประเด็นที่ถ่ายคือสิ่งทั่วไปที่นั่น แต่ต่างจากประเทศไทย อาทิ ทำไมไม่มีขี้หมาบนฟุทบาท คนไร้บ้านที่นิวยอร์กอยู่กันอย่างไร ฯลฯ สงสัยหลายเรื่องจนได้คำตอบกับตัวเองว่าทำไปทำไม
“ตอนที่ผมทำรายการมันชื่อ ยักษ์คิ้วท์ in New York เดิมทีเราเล่าเพราะเราอยากจะโชว์ความครีเอทีฟ ความบันเทิง ความสนุก แต่อันนี้เราเล่าเพราะเราอยากให้คนไทยเห็นจังเลยว่ะ ว่าที่นี่เขาเป็นอย่างไร เล่าเพราะการที่คนได้เห็น คนได้รู้ เปิดหูเปิดตามากขึ้น มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าถ้าเราได้เห็นอะไรหลายอย่าง ความรู้มันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” ทีมงาน KongGreenGreen มีภารกิจด้านสิ่งแวดล้อม คุณก้องรับอย่างถ่อมตัวว่าเขาอยากเปลี่ยนแปลงสังคมไทย แม้เล็กน้อยก็ยิ่งใหญ่ แค่ได้รู้ว่ามีร้านอาหารที่แยกขยะก็ชื่นใจแล้ว
PLASTIC IS NOT A PUBLIC ENEMY
ก่อนที่จะเป็นความสัมพันธ์ท็อกซิก (เกลียดแต่ก็ขาดไม่ได้) อย่างในปัจจุบัน หารู้ไม่ว่าพลาสติกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยต้นไม้ เมื่อโลกยังไม่รู้จักเทคโนโลยีพลาสติก การจับจ่ายในชีวิตประจำวันเป็นภาระของถุงกระดาษ ซึ่งผลิตมาจากต้นไม้ อยู่มาวันหนึ่งวัสดุพระเอกหน้าใหม่ถือกำเนิดขึ้น คงทนกว่า กันน้ำได้ และที่สำคัญคือโครตถูก ชนะถุงกระดาษทุกเวที แต่แล้วพระเอกหน้าใสกลับทำให้มนุษย์เคยตัว ด้วยความที่มันโครตถูกนี่เองจึงไม่จำเป็นต้องใช้ซํ้า แจกกันจนเป็นเรื่องปกติ ใช้แล้วทิ้งจนมีปริมาณล้นโลก ในที่สุด บ้างก็กลายเป็นขยะ บ้างก็ไปลงเอยที่ทะเลดังคลิปไวรัลหลอดกาแฟติดอยู่ในจมูกเต่า
“เพราะฉะนั้นปัญหาพลาสติก มันไม่ใช่เพราะพลาสติก มันคือการใช้อย่างไม่มีลิมิต คุณจะต่อต้านการใช้ถุงพลาสติกไปเพื่ออะไร เราไม่ได้แอนตี้การใช้ถุงพลาสติก แต่เราต่อต้านพฤติกรรมที่ใช้มันครั้งเดียว (Single-Use) เช่น ออกจากประตูมินิมาร์ท แล้วขยำ ทิ้งทันที” ภารกิจของคุณก้องคือการสร้างความเข้าใจเหล่านี้ ยังมีอีกหลายตัวอย่างของพลาสติกที่น่าสนใจ คุณก้องให้เรานึกภาพแก้วหรือถุงพลาสติกที่เขียนบอกกับชาวโลกว่าย่อยสลายได้ การประชาสัมพันธ์ยุคนี้ชวนให้ทุกคนคุ้นตากับพลาสติกจำพวกนั้น แน่นอนว่าผู้ใช้หรือผู้รับย่อมสบายใจขึ้นบ้าง แต่หารู้ไม่ว่า…
“พวกคุณ (หลายๆ องค์กร) ก็รู้ว่าโรงงานที่มีระบบย่อยพลาสติกในประเทศไทยมันไม่มี คุณก็ยังจะผลิตขึ้นมา เพื่อที่จะติดฉลากว่าแก้วนี้รักษ์โลก รักษ์ไปเพื่ออะไร ทั้งที่คุณรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้จริง” ความรู้และทัศนคติคือเรื่องที่สำคัญที่สุด คุณก้องย้อนถามถึงบ้านเราว่าที่ร้านอาหารแยกขยะแล้วได้อะไรกลับมาหรือเปล่า พยายามนึกอยู่ครู่หนึ่งก่อนคุณก้องชิงอธิบายก่อนว่าอาจไม่เห็นภาพในทันที เพราะการรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องส่วนรวม มีเราและเราเป็นส่วนประกอบ เมื่อเราแยกขยะอย่างถูกต้องแล้วรถขยะที่มารับก็ทำงานต่อง่ายขึ้น การจัดการขยะในลำดับต่อไปก็สามารถลดต้นทุนได้ทั้งเรื่องงบประมาณและเวลา
“มันมีต้นทุนที่เสียไปกับอากาศ นํ้า อาหาร ดิน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ กรุงเทพฯ เสียเงินกับการจัดการขยะในกรุงเทพ วันละเท่าไหร่รู้ไหม…” แน่นอนว่าเราทายไม่ถูก “ยี่สิบล้าน ปีละเจ็ดพันล้าน กับการเอาขยะจากหน้าบ้านทุกคนไปกองที่ภูเขา แค่นั้นเลยนะ อาจมีเผาบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่เอาไปกองไว้อยู่อย่างนั้น อาจมีระบบในการทำสาธารณูปโภค บางแห่งก็มีการจัดการที่ถูกต้อง แต่หลักๆ คือการเอาไปเทกองฝังกลบเหมือนกัน แต่ถ้าเราแยกขยะ แล้วเราส่งทรัพยากรเหล่านี้ไปรีไซเคิล มันอาจเทิร์นออกมาเป็นรายได้ แต่ที่สำคัญ มันลดปริมาณขยะ เจ็ดพันล้านจะลดลงมา แล้วเทิร์นกลับมาเป็นโรงเรียน โรงพยาบาลหรือการคมนาคมที่ดีขึ้นแทน”
การดูแลสิ่งแวดล้อมคือการลงทุนระยะยาว ไม่ควรเป็นเพียงกระแสชั่วคราว อย่างหน้าร้อนที่ผ่านมาคือฤดูโครตร้อน และหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในปีถัดไปจะสูงขึ้น เช่นเดียวกับหน้าฝุ่น ฤดูกาลชวนแสบตา ทรมานจมูกกันถ้วนหน้า ทั้งนี้พอฝนมา ปัญหาเหล่านี้ก็ยุติแต่ก็แค่ชั่วคราว เราไม่ควรชินกับเรื่องพวกนี้ ดิน นํ้า อากาศที่ดีคือปัจจัยขั้นพื้นฐานสำ หรับทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก
No One Is To Blame
คุณก้องยกให้กฏหมายคืออีกส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทิศทางของสิ่งแวดล้อม เราอาจเคยได้ยินถึงกฎหมายน่าสนใจในประเทศที่จริงจัง
กับขยะ ตัวอย่างในช่อง KongGreenGreen เช่น สวิตเซอร์แลนด์ จะมีรถมารับเฉพาะขยะประเภทกระดาษเพียง 2 ครั้งต่อเดือน เมื่อถึงวันนั้นชาวเมืองจะนำกระดาษที่ต้องการทิ้งมาวางไว้ มิเช่นนั้นต้องรออีกครึ่งเดือนถึงจะได้ทิ้ง เพราะรถที่มารับออกแบบมาเพื่อรับขยะเฉพาะประเภทนั้นๆ ไม่ใช่แยกแค่ถัง แต่แยกวันไปเลย เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ก็มีวันนัดทิ้งขยะแต่ละประเภทเช่นเดียวกัน แต่ละบ้านจะนำขยะเฉพาะประเภทมาไว้ที่จุดนัดพบตามปฏิทินขยะว่าวันนี้รถประเภทไหนมารับซึ่งรถคันดังกล่าวถูกออกแบบให้เจ้าที่ทำงานต่อได้โดยง่าย สิ่งที่ประหยัดได้ทันทีคือการลดเวลาในการทำงาน และขยะรีไซเคิลซึ่งสามารถสร้างมูลค่าได้
อาจชวนกันหดหู่และหวาดกลัวแต่ควรเป็นเรื่องปกติที่จะตระหนักถึงภาวะโลกรวนมากขึ้น ในภาพรวมเชิงเศรษฐกิจประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรง อาทิ ผลผลิตทางการเกษตรในปีนี้ที่ออกผลผลิตช้าและน้อยลงกว่าปกติ ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าเราต้องสิ้นหวัง “สังเกตได้เลยนะ คนสมัยนี้มีความตื่นตัว ต้องการความพัฒนามากขึ้น เพราะเขาเห็นว่าตัวอย่างที่ดีมันมีแล้ว การเข้าถึงสื่อทำได้ในคลิกเดียว เขาเห็นเกาหลีใต้ เห็นญี่ปุ่น อีกคลิกเห็นยุโรป สแกนดิเนเวีย เขาเห็นหมด เลยคิดว่าทำไมเราไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อก่อนสื่อยังไม่ได้เข้าถึงง่ายขนาดนี้ เลยไม่เกิดแรงสะเทือนไปถึงภาคส่วนที่ต้องรับผิดชอบ เขาเลิกคิดแล้วว่าประเทศอื่นก็คงเป็นอย่างนี้มั้ง หรือว่าเดี๋ยวเรา (ประเทศไทย) ก็ค่อยๆ พัฒนาไป” เมื่อยังตระหนักถึงคุณภาพชีวิตที่ดี เราก็ยังอยู่ในทิศทางที่ดี
คุณก้องในฐานะครีเอเตอร์สายกรีนอธิบายกับเราว่าสีเขียวดังกล่าวไม่มีสีคู่ตรงข้าม ไม่ใช่สีขาวหรือสีดำ การนำ เสนอการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือสิ่งต้องปรับตามสถานการณ์ปัจจุบันโดยมีข้อห้ามคือต้องไม่ทำให้ผู้รับสารถูกผลักออกไปอีกฝั่ง “เวลาทำคอนเทนต์ เราไม่บังคับให้ทุกคนต้องเป็นสายกรีน พกถุงผ้า ติดโซลาร์เซลล์ ขับรถอีวี เราเข้าใจว่าการรักษ์โลกมันมีกำแพงด้านความพร้อมและความเหลื่อมล้ำ การเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นการให้ทางเลือกที่เหมาะสม บางคนอาจไม่พร้อมไม่สะดวกที่จะพกกระบอกน้ำ หรือใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดี”
คุณก้องยกตัวอย่างถุงพลาสติกที่ย่อยสลายในดินได้ “ผมเคยเห็นกับตาผ่านไปสี่เดือนไปคุ้ยดินดู หายไปแล้ว แต่ถามว่าใบละสามบาท สี่บาท แม่ค้าจะใช้เหรอ ราคาเกือบเท่าหมูปิ้งหนึ่งไม้เลย”
YOU ARE NOT ALONE
ไม่ว่าใครก็ไม่ควรถูกมองว่าแปลกไปจากสังคม การทำสื่อในโลกดิจิทัลสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือความคิดเห็นที่แตกต่าง อย่างในช่วงสัปดาห์ก่อนชาวเน็ตไทยมีข้อพิพาทเรื่องการแจกถุงพลาสติกของร้าน มีชาวเน็ตที่ชื่นชมร้านที่ยังให้ถุงพลาสติกฟรีปะทะกับชาวเน็ตที่ไม่เห็นด้วย “ถ้าเราไปแตะต้องพวกนี้ โดยเรายึดมั่นสิ่งแวดล้อม เราก็จะโดนชาวเน็ตอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยโจมตีแน่ๆ บางความเห็นก็ตีความไปไกล โยงไปถึงเรื่องการเมืองบ้าง ซึ่งมันผิดประเด็น”
“เราพยายามตั้งโจทย์กับตัวเอง ว่าจะเล่าเรื่องดี เป็นพลังบวก คำว่าเล่าเรื่องดีไม่ใช่ซ่อนปัญหาไว้ใต้พรมหรือพูดจากดำเป็นขาว แต่พูดถึงมุมต่างๆ ที่ดี เพราะคนที่ตั้งประเด็นว่าใครผิดมีเยอะแล้ว” อย่างน้อยในความเห็นต่างก็ยังมีความใส่ใจอยู่ ทุกก้าวของสังคมคือการพิพาทกันเสมอ เพียงแต่ว่าต้องอยู่บนข้อเท็จจริงและทัศนคติที่มีเหตุผลเป็นส่วนประกอบ คุณก้องย้ำกับเราว่าสิ่งแวดล้อมไม่มีคำว่า “สิ่งนี้ถูกครับ สิ่งนี้ผิดครับ” ในประเด็นเดียวกันสามารถมองได้หลายมุม
อีกปัญหาบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ระบาดหนักขึ้นทุกวันคือประชากรไซเบอร์ไม่ได้อยากแลกเปลี่ยนหรือพัฒนาความคิดกันทุกคน มองช่องคอมเมนต์เป็นสนามอารมณ์ ล็อกอินเข้าบัญชีอวตารแล้วอยากพิมพ์อะไรก็พิมพ์ คุณก้องแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องไปใส่ใจชาวเน็ตกลุ่มนี้ เขาอาจเป็นใครก็ได้ พิมพ์เสร็จแล้วก็ไปทำอย่างอื่น ทำไมเราต้องเก็บเอาไปคิดด้วย เอาพลังมาใส่ใจกับคนที่สนใจจริงๆ ดีกว่า
“มันดีเบตกันได้ ไม่ใช่ว่าฉันกรีน ฉันถูกเสมอ ฉันคือคนที่ดีที่สุด ไม่เราไม่เคยคิดแบบนั้นเลย ตั้งแต่ที่ผมทำข้อมูลมาไม่มีอะไรที่บอกว่ามันกรีนที่สุดเลย แม้แต่เรื่องแก้วกาแฟรักษ์โลกที่มันย่อยไม่ได้จริงในประเทศไทย ถ้าเราทำเรื่องนี้ เราต้องเปิดใจรับคอมเมนต์ ต้องแยกให้ออกว่าอันนี้ควรคุยไหมหรือควรปล่อย”
ในฐานะผู้ชายคนหนึ่งผู้ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง ความหมายของคำว่าสุภาพบุรุษของคุณก้องคือการเป็นครีเอเตอร์ที่มีความรับผิดชอบและจริงใจ ทุกคอนเทนต์ที่ทำต้องคำนึงถึงผลที่ตามมา ถึงเนื้อหาใน KongGreenGreen จะชวนสนุก แต่ผลลัพธ์ต่างหากที่ถูกคำนึงถึงเป็นอันดับแรก “ทำให้สนุกได้ ตลกได้ แต่ก่อนปล่อยลองคิดดูว่ามันมีผลกระทบด้านอื่นไหม มันสร้างความเข้าใจผิดอะไรไหม หรือแม้แต่ข้อมูล หากมีข้อมูลผิดบ้าง หารูปผิดบ้าง เราก็ต้องแก้ไขมัน ต้องขอโทษ ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองพูด”
ในวันนี้กลุ่ม แยกขยะกันเถอะ บนเฟซบุ๊กที่สร้างโดย KongGreenGreen มีสมาชิกเกินสามหมื่นบัญชี แน่นอน ความตั้งใจของคนๆ เดียว หรือสามหมื่นคนในนี้อาจไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่การที่ได้รู้ว่าฉันไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก ในวันที่อุณหภูมิสูงขึ้นไม่แพ้เงินเฟ้อ หรือวันที่ต้องร้องไห้จนลืมตาไม่ขึ้นเพราะฝุ่นหนา จะมีอะไรสำคัญไปกว่ากำลังใจจากเพื่อนมนุษย์ผู้เชื่อว่าภาพใหญ่จะชัดเจนในวันข้างหน้าพร้อมร่วมสร้างพลังทางบวกเพื่อส่งต่อความหวังและความจริงสู่ผู้คนรุ่นต่อไป