back to top
HomeCultureThe Buffet’s Way: แนวคิด...

The Buffet’s Way: แนวคิด วิธีการ ปรัชญาการลงทุนแบบวอร์เรน บัฟเฟตต์

ใครคือ Warren Buffet เราคงไม่เสียเวลามานั่งเล่าให้ฟังหรือเกริ่นนำถึงประวัติชีวิตส่วนตัวของเขา เชื่อว่าผู้อ่าน Esquire เองก็น่าจะพอรู้จักเขาบ้างในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะในมุมการเป็นนักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จในตลาดทุนที่ติดอันดับสูงรายชื่อมหาเศรษฐีของนิตยสารฟอร์บส์อย่างต่อเนื่อง โดยการอัพเดตล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 บัฟเฟต์มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิส่วนตัวมากกว่า 130,700 ล้านดอลลาร์ เขาสร้างพอร์ตการลงทุนด้วยแนวคิดอย่างไร และในวัย 93 ปี ปู่บัฟเฟต์จัดพอร์ตการลงทุนแบบใด เราจะนำมาเรื่องเหล่านี้มาเล่าให้คุณฟัง

ปรัชญาการลงทุนของบัฟเฟตต์

ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้เขาเอาชนะตลาดทุนได้จนสามารถสร้างมูลค่าทรัพย์สินได้ขนาดนี้ มาจากปรัชญาการลงทุนของเขาที่ยึดถือแนวทางการลงทุนแบบเน้นมูลค่า(VI)ของเบนจามิน เกรแฮม นักลงทุนแบบเน้นมูลค่าระดับตำนาน ซึ่งอธิบายง่ายๆ ในแนวคิดแบบนี้ก็คือการมองหาหลักทรัพย์ที่มีราคาต่ำเกินสมควร เมื่อพิจารณาจากมูลค่าที่แท้จริงด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท

อีกทั้งบัฟเฟตต์ไม่ได้สนใจความซับซ้อนของอุปสงค์และอุปทานในตลาดหุ้น เขาไม่ได้สนใจกิจกรรมของตลาดหุ้นเลย ซึ่งนี่คือสิ่งที่บ่งบอกในคำพูดอันโด่งดังของเบนจามิน เกรแฮมที่ว่า “ในระยะสั้น ตลาดคือเครื่องลงคะแนนเสียง แต่ในระยะยาว ตลาดคือเครื่องชั่งน้ำหนัก”

จากคำพูดสะท้อนถึงแนวคิดดังกล่าว ทำให้เขาพิจารณาบริษัทแต่ละแห่งโดยรวม ดังนั้นเขาจึงเลือกหุ้นโดยพิจารณาจากศักยภาพโดยรวมของบริษัทเท่านั้น และบัฟเฟตต์ไม่ได้แสวงหากำไรจากส่วนทุนโดยการถือหุ้นเหล่านี้ในระยะยาว เขาต้องการเป็นเจ้าของในบริษัทที่มีคุณภาพซึ่งสามารถสร้างผลกำไรได้สูงในระยะยาวเท่านั้น

และหุ้นที่อยู่ในพอร์ตของบัฟเฟตต์ก็คือ

• บริษัท แอปเปิล อิงค์ ( AAPL )

• ธนาคารแห่งอเมริกา ( BAC )

• อเมริกันเอ็กซ์เพรส ( AXP )

• เชฟรอน ( CVX )

• โคคาโคล่า ( KO )

• คราฟท์ ไฮนซ์ ( KHC )

• บริษัท ออคซิเดนทัล ปิโตรเลียม ( OXY )

ทฤกษฎีการลงทุนล่าสุดของบัฟเฟตต์ในวัย 93 ปี

ในวัย 93 ปี เราลองมาดูกันสิว่า แผนลงทุนที่ว่ากันว่าเป็นแผนเกษียณของบัฟเฟตต์ที่เขาได้บอกกับภรรยาให้จัดการการลงทุนให้ทั้งในวันที่เขายังมีชีวิตอยู่และลาจากโลกนี้ไป กลยุทธ์ที่ว่าก็คือวิธีการลงทุนในทฤษฎี 90/10 นั่นเอง ซึ่งหลักการลงทุนดังกล่าวอธิบายได้ดังนี้

ส่วนที่1. ลงทุนในกองทุนดัชนีหุ้นที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ 90%

ส่วนที่2. ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น10%

ในทฤษฎีการลงทุนดังกล่าว มีคำอรรถาธิบายในการเลือกจัดพอร์ตลักษณะนี้ไว้ว่าสาเหตุที่เขาแนะนำให้ลงทุน 90% ในกองทุนดัชนีที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ เพราะการลงทุนในกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมสูงจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนในระยะยาว และจะทำให้เราได้รับผลตอบแทนจากกองทุนน้อยลงเมื่อเทียบกับกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ ซึ่งบัฟเฟตต์เคยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในระยะยาวกองทุนดัชนีสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่ากองทุน Active Fund โดยเดิมพันกับอดีตผู้จัดการกองทุน Hedge Fund แห่งหนึ่งว่าภายใน 10 ปี กองทุนดัชนี S&P500 จะให้ผลตอบแทนสูงกว่ากองทุน Active Fund และเมื่อผ่านไป 10 ปี กองทุนดัชนี S&P500 ก็ชนะจริง ๆ ส่วนอีก 10% ที่นำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น เพราะพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ราคาความผันผวนน้อย จึงเหมาะกับเป็นเงินก้อนสำหรับเผื่อถอนเงินออกมาใช้ฉุกเฉินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้พอร์ต

 โดยสรุปง่ายๆ แนวคิดการลงทุนดังกล่าวจะเน้นไปที่การลงทุนในสินทรัพย์ที่เน้นมูลค่าตามแบบฉบับของเขานั่นแหละ เพียงแต่มีการกระจายสภาพคล่องทางการลงทุนไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย การลงทุนในรูปแบบดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งยังทำให้โอกาสในการขาดทุนลดลงไปตามแผนที่เลือกอีกด้วย

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนการลงทุนที่ปู่บัฟเฟต์ได้นำเสนอตามบริบทช่วงวัยของเขาในวันนี้ ที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้กับการลงทุนให้พอร์ตมีความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนนั่นเอง

- COVER ART -

Most Popular

More to See