
จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นแท่นซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่ครองอันดับ 1 กับซีรีส์ภาษาต่างประเทศที่มีผู้ชมสูงสุดทั่วโลกบน Netflix และติด Top 10 ใน 63 ประเทศทั่วโลก กับ”สืบสันดาน” ละครจาก Netflix ภายใต้ความร่วมมือกับ กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส ที่ได้จารึกประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ กับเรื่องราวการดับปริศนาของเจ้าสัวแห่งอาณาจักรเพชร ทำให้เกิดสงครามแย่งชิงมรดกเลือด และประเด็นการกดขี่ระหว่างชนชั้น โดยล่าสุดทำสถิติเป็นประวัติการณ์ในฐานะ “ซีรีส์ไทย” เรื่องแรกที่สามารถขึ้นครองอันดับ 1 บนชาร์ต Top 10 หมวดซีรีส์ภาษาต่างประเทศ (Non-English) ที่มีผู้ชมสูงสุดทั่วโลกบน Netflix และยังครองอันดับ 1 ซีรีส์ที่มียอดรับชมสูงสุดใน 10 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศโปแลนด์ มาเลเซีย และไทย อีกทั้งยังติดอันดับ Top 10 ใน 63 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, บราซิล, สเปน, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม และฟิลิปปินส์


เรื่อง สืบสันดาน นั้นกำกับโดย ศิวโรจณ์ คงสกุล ผู้ฝากผลงานภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลในระดับนานาชาติอย่างเรื่อง “ที่รัก” ที่คว้ารางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ครั้งที่ 40 กับรางวัล Tiger Awards


ภาษาภาพยนตร์และประเด็นที่เป็นสากล
ศิวโรจณ์ คงสกุล ได้กล่าวถึงมุมมองต่อเหตุผลที่ทำให้ละครไทย ได้รับความนิยมในเวทีโลกว่า “อาจเพราะผมเริ่มต้นจากการเป็นคนทำภาพยนตร์ จึงเน้นการใช้ภาษาภาพยนตร์ลงไปในทุกๆ ชิ้นงาน เพราะภาพยนตร์เป็นภาษาสากลที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ สืบสันดาน ไม่ได้นำเสนอแค่ไดอะล็อก แต่ใช้องค์ประกอบการเล่าเรื่องทั้งภาพ แสง และเสียงที่กลมกลืนไปกับตัวละคร ทำให้ได้ทั้งความสวยงามจากฉากและการเล่าเรื่องที่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังสอดแทรกประเด็นความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นประเด็นสากลที่มนุษย์เราต่างมีความรู้สึกร่วมได้ไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหน”
เสน่ห์ของตัวละคร เมื่อเปิดพื้นที่ให้นักแสดงได้ทลายขีดจำกัด




สืบสันดาน เหมือนดั่งการแต่งแต้มลงไปบนผืนผ้าใบที่ว่างเปล่า ความว่างเปล่าทำให้ตลอดการสร้างงานนั้นมีความสดใหม่ ทั้งทีมผู้สร้างและนักแสดงต่างตื่นเต้นกับพื้นที่อิสระตรงนี้ และทุ่มเทสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา
โดยขายังกล่าวอีกว่าเป็นการรวมตัวของนักแสดงดาวรุ่งและนักแสดงระดับตำนานของไทยที่มีประสบการณ์ในแวดวงการแสดงนับสิบปี เมื่อเขาลองเปิดพื้นที่ให้นักแสดงได้เสนอไอเดียได้อย่างเต็มที่ จึงมีการใช้เทคนิคต่างๆ อย่างการ “อิมโพรไวซ์” หรือการแสดงที่เกิดจากการเข้าถึงบทบาทอย่างลึกซึ้ง ซึ่งอยู่นอกเหนือจากบทละคร เกิดเป็นเสน่ห์ของตัวละครที่สดใหม่และทำให้ผู้ชมไม่อาจละสายตาได้ “นักแสดงทุกท่านได้ทำการบ้านกับตัวละครอย่างหนัก และได้ปล่อยพลังของตัวเองที่อัดอั้นอยู่ภายใน พอนักแสดงมีอิสระในการแต่งเติมตัวละคร มีการพูดคุยกันระหว่างนักแสดงและผู้กำกับ ปรึกษากันระหว่างนักแสดงด้วยกันเอง ทำให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพ และเกิดเป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากตัวละครที่พวกเขาเล่น”
งานภาพสุดอลังการที่สื่อสารกับผู้ชม




คฤหาสน์ตระกูลเทวสถิตย์ไพศาล ตั้งอยู่บนที่สูงและมีทิวทัศน์อลังการโอบล้อมรอบ ซึ่งเป็นเจตนาของผู้กำกับและทีมผู้สร้างที่ต้องการให้สถานที่หลักอย่างคฤหาสน์นั้นดูกว้างใหญ่จนกระทั่งบรรดาคนรับใช้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เดียวกันนั้นดูตัวเล็กไปถนัดตา “ผมตามหาโลเคชั่นหลักนี้จากคำถามที่ว่า นอกจากความสวยแล้ว คนที่รวยมากๆ เขาซื้อพื้นที่ใหญ่ๆ เพื่อสูดอากาศที่ดีกว่าคนอื่นด้วยหรือเปล่า จนมาเจอโลเคชั่นนี้ที่มีความอลังการโอบล้อมบ้านอยู่ ทุกอย่างใหญ่โตไปหมด ทำให้ผู้คนในนั้นเป็นแค่คนตัวเล็กๆ เพียงแค่คนรับใช้เดินอยู่ ก็รู้สึกราวกับถูกข่มเหงโดยไม่รู้ตัว อาจจะถูกข่มด้วยวิวภูเขา ทิวไม้ หรือฉากอลังการ เหมือนภาพวาดที่คนจนไม่มีวันได้เดินอยู่ตรงนั้น”
สอดแทรกสัญญะที่มีความหมายลึกซึ้ง


ศิวโรจน์ระบุว่าตลอดการสร้างว่าเขาได้ค้นพบ Magic Moment มากมาย และหนึ่งในเกร็ดที่น่าสนใจคือตัวย่อของชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ Master of the House คือ MOTH ตรงกับความหมายของผีเสื้อกลางคืน ซึ่งทีมเขียนบทได้บังเอิญค้นพบระหว่างเขียนบทละคร และกลายมาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญของเรื่อง โดยในสืบสันดาน “ผีเสื้อกลางคืน” เป็นสัญลักษณ์แทนคนรับใช้ ที่อยู่ในความครอบครองของชนชั้นสูง และโดนปฏิบัติเสมือนเป็นของเล่น มีอำนาจที่จะกระทำสิ่งใดก็ได้กับสัตว์ประเภทนี้ที่มีความสวยงาม แต่ก็เปราะบาง และการสะสมผีเสื้อกลางคืนยังเป็นงานอดิเรกของคนมีฐานะจำนวนหนึ่งที่ต้องการไขว่คว้าจะครอบครองของหายาก ซึ่งแม้จะสวยงาม แต่กลับไร้ซึ่งวิญญาณ
เบื้องหลังการเลือกใช้ “แสงธรรมชาติ” และ “แสงประดิษฐ์”




ศิวโรจน์เผยว่าระหว่างการถ่ายทำ เขาค้นพบองค์ประกอบแสงที่สื่อความหมาย และได้นำมาปรับใช้ในการสร้างงาน “ระหว่างถ่ายทำผมสังเกตเห็นความแตกต่างของการใช้แสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์ ผมจึงกำหนดความหมายของการใช้แสงทั้งสองประเภทนี้ โดยแสงธรรมชาติจะเน้นไปที่การถ่ายในฉากกลุ่มคนรับใช้ด้วยกันเอง และใช้แสงสังเคราะห์เช่นสปอตไลต์สาดไปในฉากระหว่างคนรับใช้และเจ้านาย บางฉากเพื่อเปรียบว่าเราจะเชิดชูเหล่าคนรับใช้ หรือบางฉากก็สาดไฟใส่พวกเขาเสียจนให้ความหมายได้ว่าตัวตนพร่าเลือนหายไป และในฉากสุดท้ายที่ภูพัฒน์กับไข่มุกเผชิญหน้ากัน ผมเลือกใช้แสงโปรเจกเตอร์สาดกลับมาที่ตัวละครภูพัฒน์ เพื่อสื่อเป็นนัยของการสู้กลับ”
อิสระในการทำงานยกระดับคอนเทนต์ไทยไปสู่ระดับโลก
ศิวโรจณ์กล่าวว่า “ขอบคุณทาง Netflix ที่เปิดพื้นที่ให้อิสระทั้งทางความคิดและการทำงาน เมื่อมีการสนับสนุนที่ดีในเชิงความคิดสร้างสรรค์ ผลงานจึงสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้มากยิ่งขึ้น สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าผมไม่ได้ทำงานกับทีมงานมืออาชีพจริงๆ ทั้งจากทาง Netflix และทีมกันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จนทำให้ผมเชื่อว่าไม่มีเขื่อนอะไรมากั้นสายน้ำแห่งความสำเร็จนี้ได้”