Dolce & Gabbana เชิญชวนทุกคนให้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ทางศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยการเปิดตัวคอลเลกชั่น Casa ในจางหยวน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก เต็มไปด้วยความหลากหลายและยิ่งใหญ่ที่สุดในเซี่ยงไฮ้ เป็นสถานที่รวบรวมแฟชั่นของทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศไว้ด้วยกัน

เหตุผลที่เลือกจางหยวนเป็นบ้านใหม่ของคอลเลกชั่น Casa เพราะช่วยส่งเสริมตัวตนของเฮ้าส์ในตลาดท้องถิ่น และบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ผ่านจินตภาพ ความคิดสร้างสรรค์ล้ำสมัย และงานฝีมือแบบอิตาลีผ่านมุมมองที่หลากหลายขึ้น ตั้งอยู่บนพื้นที่สองชั้นของอาคารแบบดั้งเดิมที่แยกออกจากกัน โดยจะเริ่มต้นจากชั้นล่างอย่างห้อง Sicily Garden เป็นการระลึกถึงสถานที่สำคัญของเฮ้าส์ ถัดมาเป็นห้อง Hologram และ Immersive ที่จะนำเสนอผลงานศิลปะดิจิทัลผ่านทางภาพจริงเสมือน เพราะแบรนด์รู้ดีว่างานฝีมือต่างๆ มีค่ามากยิ่งในยุคดิจิทัล




นอกจากนี้ในพื้นที่ส่วนกลางของชั้นหนึ่งยังมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการกลาง กับโรงภาพยนตร์ DG Cinema และห้องโถงทั้งสามห้องสำหรับคอลเลคชั่น Casa เพื่อส่งเสริมคุณค่าของ “Fatto a Mano” (งานทำมือ) โดยนิทรรศการมีชื่อว่า NERO: The Color of Dolce & Gabbana และมีหนังสือที่ชื่อเดียวกันอยู่ด้วย จัดแสดงเพื่อเปิดเผยสุนทรีย์และสไตล์ของเฮ้าส์ในหลากหลายรูปแบบผ่านผลงานชิ้นเอกของเหล่าช่างภาพแฟชั่น นำเสนอภาพถ่ายนิตยาสารและภาพรายงานข่าวสลับกันถือเป็นการเชิดชูต้นกำเนิดของแรงบันดาลใจของแบรนด์ รวบรวมเสน่ห์ของเฉดสีดำซิซิลีซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ Dolce & Gabbana นอกจากนี้จะมีนิทรรศการและนวัตกรรมอื่น ๆ จะทยอยมาจัดแสดงที่ร้านอีกด้วย
โดยพื้นที่ที่มีให้สำหรับคอลเลกชั่น Casa โดยเฉพาะนั้นจะถูกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่สะท้อนถึงธีมที่โดดเด่นที่สุดของเฮ้าส์ ไล่ตั้งแต่ Blu Mediterraneo, Carretto Siciliano, Leopard ไปจนถึง Zebra แบรนด์ใส่ใจต่อความคิดสร้างสรรค์และคุณค่าของคนรุ่นใหม่มาโดยตลอด ดังที่เห็นได้จากโครงการ GenD (Generation Designers) ซึ่งสนับสนุนเยาวชนผู้มีพรสวรรค์ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์




โดยในครั้งนี้ Xu Mingyu และ Wu Jie คือดีไซน์เนอร์รุ่นเยาว์ชาวจีนที่ได้เข้าร่วมในโครงการ โดยผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมก็จะได้เห็นคอลเลกชั่นของทั้งสอง ซึ่งก็คือ คอลเลคชั่น Wonderland ของ Xu Mingyu ที่ผสานไม้ไผ่ของจีน พืชจากเกาะซิซิลี และแก้วสไตล์เวนิสเข้าด้วยกัน และคอลเลกชั่น A Journey ของ Wu Jie ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลูกสนซิซิลีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี โดยใช้เรซิ่นในการหล่อชิ้นงานไม้เรดวูด และสำรวจคุณค่าการรับรู้ของวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้นในยุคแอนโทรโปซีน