ทุกคนคงทราบแล้วว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้พรบ.สมรสเท่าเทียมผ่านไปสู่การเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง
ซึ่งในขั้นตอนถัดไปของกระบวนการคือหากศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบแล้วว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ ก็จะส่งต่อให้นายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าและนำไปใช้เป็นกฏหมายต่อไป
ซึ่งในส่วนสิทธิที่ชาว LGBTQIA+ จะได้รับประโยชน์นั้น ไม่ได้ลดทอนสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ชายหรือผู้หญิงคนใดเลยแม้แต่น้อย มันคือการทำให้ทุกคนได้รับสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน เมื่อใดก็ตามที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกนำมาใช้ จะทำให้บุคคลทั้ง 2 ฝ่ายสามารถสมรสกันได้โดยไม่คำนึงถึงเพศ แต่ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และสามารถหย้าร้างกันได้ ใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีภรรยา” สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ มีสิทธิ์ในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส ลงนามให้รักษาพยาบาลอีกฝ่ายได้ และอื่นๆ อีก
ในปัจจุบันคำว่า “ความเท่าเทียม” นั้นได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกแวดวงของสังคม ทั้งวงการภาพยนต์ที่จะพบเห็นได้บ่อยๆ วงการเพลง รวมถึงวงการแฟชั่นที่เราจะสังเกตุเห็นว่าแบรนด์ต่างๆ มีการออกแบบเสื้อผ้าที่ผสมผสานความหลากหลายเข้าไปด้วย แต่ก็ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกต้องไปทั้งหมด จะต้องมีบ้างอยู่แล้วที่หลายๆ คนเข้าใจคำว่าความเท่าเทียมผิดไป ซึ่งหน้าที่ของเราในฐานะคนทั่วไปคือการทำความเข้าใจในเรื่องของความหลากหลายและความเท่าเทียม เพื่อให้เกิดความเสมอภาคที่แท้จริงในภายภาคหน้า
หรือหากใครจะบอกว่าเราเป็นผู้ชายแท้ๆ เป็นสุภาพบุรุษของเหล่าสตรีเท่านั้นก็ไม่มีใครว่า แต่เพียงแค่ลมปากไม่ได้ทำให้คุณถูกยอมรับว่าเป็นลูกผู้ชายจริงๆ หากแต่เป็นการกระทำที่เป็นสิ่งยืนยัน การเคารพซึ่งกันและกัน การให้เกียรติแก่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องมีความพยายามมากมาย เพียงแค่ใช้พื้นฐานของความเป็นมนุษย์เท่านั้นเอง